Settlement Guide: คุณจะยื่นคำร้องขอหย่าได้อย่างไร

Two separate wedding rings next to the word "divorce". The concept of divorce, parting, infidelity . Selective focus.

การยื่นคำร้องขอหย่าในออสเตรเลียใช้เวลาไม่นานแต่มีเรื่องต่างๆ ที่คุณควรรู้ก่อนจะดำเนินการ Source: iStockphoto

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ผลการวิจัยจากสถาบันวิจัยครอบครัวแห่งออสเตรเลียพบว่า ช่วงอายุที่คนมีโอกาสในการหย่าร้างสูงคือคนที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ยี่สิบตอนกลางถึงยี่สิบตอนปลาย ตามมาด้วยคู่สมรสที่อยู่ในช่วงวัยสี่สิบตอนปลาย และในจำนวนคู่สมรสที่เกิดการหย่าร้างนั้นส่วนมากจะพบว่าแต่งงานกันมาแล้วเก้าปีหรือน้อยกว่าเก้าปี


กดปุ่ม 🔊 ด้านบนเพื่อฟังพ็อดคาสท์นี้

ในออสเตรเลีย การหย่าร้างเป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน โดยมากใช้เวลาเพียงสามเดือนในการทำให้ข้อกำหนดต่างๆ ในการหย่าร้างสมบูรณ์

คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ ทนายความฝ่ายช่วยเหลือด้านกฎหมายครอบครัวในระยะแรกเริ่มและการให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยของศูนย์ปรึกษากฎหมายในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้อธิบายเกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ ที่คุณต้องพิจารณาก่อนที่คุณจะดำเนินการหย่าร้างว่า

ข้อหนึ่ง สถานภาพการอยู่อาศัยในออสเตรเลียของคุณ เช่น คุณเป็นพลเมืองออสเตรเลียหรือไม่ สามีหรือภรรยาของคุณเป็นพลเมืองออสเตรเลียหรือไม่ ถ้าคุณหรือคู่ของคุณไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียก็จะมีคำถามต่อไปว่า คุณอยู่อาศัยในออสเตรเลียมานานถึงสิบสองเดือนและมีความเป็นไปได้ที่จะอาศัยในออสเตรเลียอย่างไม่มีกำหนดหรือไม่

ข้อสอง การจะได้คำสั่งหย่าจากศาล คุณจะต้องแสดงให้เห็นถึงสถานภาพสมรสที่สิ้นสุดของคุณ โดยคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณได้แยกกันอยู่กับคู่สมรสของคุณอย่างน้อย12เดือน  บางครั้งคุณสามารถหย่าร้างได้ขณะที่คุณยังพำนักอยู่ในบ้านเดียวกัน ตราบเท่าที่คุณสามารถแสดงให้ศาลเห็นว่าคุณได้แยกทางกันแล้วจริง ในกรณีนี้คุณต้องเตรียมเอกสารคำให้การอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับวันที่แยกกันอยู่อย่างเป็นทางการ พร้อมให้เหตุผลว่าทำไมคุณถึงคิดว่าวันนั้นเป็นวันที่คุณแยกกันอยู่  เปรียบเทียบสถานการณ์ของคุณตั้งแต่ก่อนและหลังการกำหนดวันที่แยกกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ข้อสาม คุณมีทะเบียนสมรสฉบับภาษาอังกฤษหรือไม่

ข้อสี่  ถ้าคุณแต่งงานมาเป็นระยะเวลาน้อยกว่าสองปี กฎหมายกำหนดว่าคุณต้องลองขอคำปรึกษาด้านชีวิตแต่งงาน(counselling) ก่อนที่จะยื่นคำร้องขอหย่าได้  แต่ก็มีบางกรณีที่ได้รับการยกเว้นจากศาลให้ไม่ต้องขอคำปรึกษา เช่น คุณเคยประสบปัญหาความรุนแรงภายในในครอบครัว เป็นต้น

ข้อสุดท้าย คุณมีที่อยู่ของคู่สมรสของคุณหรือไม่

ภายใต้กฎหมายของออสเตรเลียคุณไม่จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากคู่ของตนในการยื่นคำร้องขอหย่า คุณสามารถยื่นคำร้องขอหย่าฝ่ายเดียวได้ แต่คู่สมรสของคุณต้องได้รับใบคำร้องขอหย่า ถ้าคุณไม่ทราบว่าคู่สมรสของคุณอยู่ที่ไหน มันก็มีวิธีอื่นๆที่คุณสามารถส่งใบคำร้องขอหย่าให้เขาได้  คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“ถ้าคุณไม่ทราบว่าคู่สมรสของคุณอาศัยอยู่ที่ไหน คุณต้องดำเนินการอย่างสมเหตุสมผลที่จะตามหาเขา ถ้าคุณได้ลองทำทุกทางแล้วก็ยังไม่ทราบที่อยู่ของเขา คุณก็สามารถร้องขอให้ศาลอนุญาตให้คุณส่งเอกสารให้คู่สมรสของคุณโดยวิธีต่างๆ  โดยเฉพาะถ้าคุณรู้ว่าเขายังมีการติดต่อกับญาติคนอื่นๆ ในครอบครัว  คุณก็สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุณส่งเอกสารการหย่าร้างผ่านทางสมาชิกครอบครัวได้ หรือถ้าคุณมีอีเมลหรือมีบัญชีเฟซบุ๊กของเขา คุณก็สามารถติดต่อส่งเอกสารผ่านช่องทางเหล่านั้นได้เช่นกัน” คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ อธิบาย

กระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลียมีการให้บริการล่ามโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในภาษาต่างๆ แก่ผู้ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียและถือวีซ่าในหลายประเภท เช่น วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวร วีซ่าประเภทชั่วคราวบางประเภท หรือวีซ่าผู้ลี้ภัย เป็นต้น คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ แนะนำว่าถ้าคุณต้องการใช้บริการล่าม คุณต้องเตรียมเอกสารสำคัญทางกฎหมายต่างๆ เช่น ทะเบียนสมรสที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและได้ทำการแปลมาไม่เกินสองปีตั้งแต่ได้รับการอนุมัติวีซ่าในออสเตรเลีย

และเมื่อคุณแยกกันอยู่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย12เดือน คุณสามารถยื่นคำร้องขอหย่าโดยผ่านศาลเคลื่อนที่แห่งรัฐบาลกลาง(The Federal Circuit Court) โดยคุณต้องชำระค่าธรรมเนียมค่าจำนวน 910 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์คุณอาจได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมได้ เช่น กรณีที่คุณมีปัญหาด้านการเงิน และถ้าคุณจดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ ศาลเคลื่อนที่แห่งรัฐบาลกลาง (The Federal Circuit Court) ก็สามารถอนุมัติคำร้องขอหย่าของคุณในออสเตรเลียได้เช่นกัน

แต่ในกรณีที่คุณถือวีซ่าชั่วคราว  การหย่าร้างอาจส่งผลกระทบต่อการพำนักในออสเตรเลียของคุณ ในกรณีนี้ คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ แนะนำว่า ผู้ยื่นคำร้องขอหย่าควรขอคำแนะนำทางกฎหมายจากทนายความด้านการย้ายถิ่นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อดูว่าคุณมีทางเลือกอะไรบ้างในเรื่องนี้ 

คุณ ฟลอเรนซ์ มอลทาโว ครูซ ยังชี้ถึงเรื่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่คุณต้องกระทำคือคุณต้องแจ้งเซนเตอร์ลิงค์ (Centrelink) ให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของคุณ เธออธิบายว่า

“ถ้าคุณได้รับความช่วยเหลือจากเซนเตอร์ลิงค์ (Centrelink) หลังจากหย่าแล้วคุณต้องแจ้งสถานะที่เปลี่ยนไปของคุณกับเซนเตอร์ลิงค์ ในกรณีที่คุณมีบุตร คุณต้องยื่นคำร้องในการประเมินค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นคุณอาจจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็ก (family tax benefit) ลดลง”
Centrelink deliver social security payments services to Australian
หลังหย่าร้างคุณต้องติดต่อเซนเตอร์ลิงค์ (Centrelink) เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานะของคุณ Source: AAP
การแบ่งทรัพย์สินหลังการหย่าร้าง

การแบ่งทรัพย์สินเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการหย่าร้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการแบ่งกันคนละครึ่งเสมอไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณ ศาลจะคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างก่อนที่จะมีคำสั่งในการแบ่งทรัพย์สิน คุณ ฟลอเรนซ์ มอนทาโว ครูซ  ให้ข้อมูลว่า

"หากคุณมีบ้านที่อาศัยร่วมกัน คุณต้องทำตามขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สิน แม้ว่าบ้านนั้นจะมีชื่อคู่สมรสของคุณเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม ศาลจะพิจารณาว่าใครเป็นคนรับผิดชอบทางการเงินด้านใดบ้าง ใครทำงาน ใครจ่ายอะไร ทรัพย์สินอะไรที่แต่ละฝ่ายครอบครองก่อนการสมรส และศาลยังพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมในครอบครัวที่นอกเหนือจากเรื่องการสนับสนุนด้านการเงิน ดังนั้นหน้าที่ที่คุณทำเช่น การทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน การดูแลเด็ก การดูแลบ้าน การดูแลระหว่างสามีภรรยา ก็จะนำมาพิจารณาด้วย นอกจากนี้ ศาลจะพิจารณาถึงสถานการณ์การเงินของคุณทั้งสองเพื่อปรับข้อตกลง รวมถึงพิจารณาปัจจัยเกี่ยวข้องต่างๆ เช่น คุณต้องการความช่วยเหลือในอนาคตหรือไม่ คุณเป็นฝ่ายต้องดูแลลูกหรือไม่ หรือคุณมีภาวะด้านสุขภาพหรือความพิการไหม เป็นต้น”  คุณ ฟลอเรนซ์ มอลทาโว ครูซ  เปิดเผย

การจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตร

จากตัวเลขล่าสุดของสถาบันวิจัยครอบครัวแห่งออสเตรเลีย แสดงให้เห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่งของการหย่าร้างในออสเตรเลียมีเรื่องบุตรที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปีเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่แล้วเด็กทุกคนในออสเตรเลียจะได้รับการคุ้มครองจากโครงการประกันค่าเลี้ยงดูบุตร (Child Support Scheme) ซึ่งจะประเมินว่าผู้ปกครองฝ่ายหนึ่งจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าไหร่ให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าคู่ไหนที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องนี้ ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้จากกระทรวงบริการสังคม (Department of Social Services)  

คุณ เอมมา สมอวูด  รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษากฎหมาย ของรัฐวิคตอเรีย อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

 “ในกรณีที่ผู้ปกครองทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการค่าใช้ในการดูแลบุตร คุณสามารถติดต่อกระทรวงบริการมนุษย์ (Department of Human Services) เพื่อใช้บริการในโครงการประกันค่าเลี้ยงดูบุตรได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินว่าผู้ปกครองฝ่ายหนึ่งควรได้รับเงินเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าไหร่จากอีกฝ่ายหนึ่ง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง” คุณ เอมมา สมอวูด ชี้

 คุณ เอมมา สมอวูด แนะนำต่อไปว่าคุณควรทราบถึงสถานการณ์ทางการเงินในปัจจุบันของครอบครัวของคุณเพื่อจะนำข้อมูลนี้มาเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบุตรของคุณ เธอกล่าวว่า

“คุณทั้งคู่ควรมีข้อมูลทางการเงินของครอบครัว ซึ่งสามารถนำข้อมูลนั้นๆ มาเป็นประโยชน์ในเรื่องการเจรจาตกลงต่างๆ เช่น เรื่องบ้านที่จะต้องดำเนินการ มันเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะมันเกี่ยวเนื่องกับการดูแลเด็กด้วย” คุณ เอมมา สมอวูด อธิบายทิ้งท้าย

หากคุณกำลังพิจารณาเรื่องการดำเนินการหย่าร้างคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ปรึกษากฎหมายแห่งชาติที่ เพื่อดูว่าคุณสามารถขอคำปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากที่ไหนในรัฐของคุณได้บ้าง

 รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 


 


Share