ออสเตรเลียร่วมกับยูเอ็นเร่งลดความรุนแรงในครอบครัว

domestic violence

Source: In Pictures Ltd./Corbis via Getty Images

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

องค์การสหประชาชาติ กำลังมุ่งแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและครอบครัว โดยจัดให้มี 16 วันแห่งความพยายามที่จะลดปัญหาเรื่องนี้ทั่วโลก รัฐบาลออสเตรเลียทุกระดับและองค์กรต่างๆ ได้ริเริ่มโครงการทั่วประเทศเพื่อยับยั้งความรุนแรงในครอบครัว ที่พุ่งสูงช่วงวิกฤตโควิด


องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น กำลังมุ่งเน้นปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงและครอบครัว โดยจัดให้มี 16 วันแห่งความพยายามที่จะลดปัญหาเรื่องนี้ทั่วโลก

กระบอกเสียงรณรงค์ลดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทั่วออสเตรเลียและรัฐบาลทุกระดับของประเทศ ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

ความรุนแรงในครอบครัวถูกจัดว่าเป็นวาระฉุกเฉินแห่งชาติ

แต่ผู้รณรงค์เรื่องนี้ในออสเตรเลียต้องการให้ออสเตรเลียก้าวเข้าไปใกล้เป้าหมายมากขึ้น เกี่ยวกับการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงให้หมดไป

เซฟ สเตปส์ (Safe Steps) เป็นศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมงสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยให้บริการทั่วรัฐวิกตอเรีย

คุณริตา บูเทรา ผู้บริหารของศูนย์ กล่าวว่า ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

“เรามีผู้หญิงหนึ่งคนต่อสัปดาห์ที่ถูกสังหารในออสเตรเลีย โดยเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้ง ยังมีการเรียกตำรวจไปช่วยในเรื่องนี้ทุกๆ 6 นาทีในรัฐวิกตอเรียและทุกๆ 2 นาทีทั่วประเทศ” คุณบูเทรา จาก เซฟ สเตปส์ กล่าว

ในนิวเซาท์เวลส์ มีปฏิบัติการพิเศษของตำรวจ ซึ่งพุ่งเป้าไปยังผู้ก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนิวเซาท์เวลส์ มาร์ก โจนส์ กล่าวว่า ผู้ก่อเหตุควรถูกเตือนเรื่องพฤติกรรมของพวกเขา

“เราจะมีตำรวจด้านความรุนแรงในครอบครัวและเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องทั่วไปลงพื้นที่ พร้อมกับทีมดูแลผู้ก่อเหตุที่มีความเสี่ยงกระทำผิดสูง โดยพุ่งเป้าไปที่คนเหล่านั้นที่เรารู้ว่าเคยก่อเหตุความรุนแรงในครอบครัว หากคุณเป็นผู้ก่อเหตุ คุณได้รับคำเตือนจากเรา เราจะไปที่นั่นและเราจะไม่อดทนต่อการใช้ความรุนแรงใดๆ ในครอบครัว” ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนิวเซาท์เวลส์ ย้ำ

นักวิจัยต่างๆ พบว่า การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงพุ่งสูงขึ้นอย่างมากระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

คุณนาตาชา สทอตต์ เดสโปจา เป็นประธานผู้ก่อตั้งองค์กร เอาร์ วอตช์ (Our Watch) ที่เป็นองค์กรซึ่งล็อบบี้รัฐบาลให้ออกนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาและขจัดการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง

“สถิตินั้นย่ำแย่มาก แต่เรารู้ว่าในช่วงโควิดมีอัตราการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ความร้ายแรงของความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นด้วย และโควิดถูกใช้เป็นอาวุธภายในบ้าน” คุณเดสโปจา กล่าว

ความกดดันด้านการเงินและการถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในบ้านมีบทบาทสำคัญที่นำไปสู่ปัญหานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ได้กล่าวว่า น่ากังวล โดยเขาได้พูดถึงประเด็นนี้ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของเชื้อและในช่วงแรกของการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม

“การจำกัดให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ซึ่งเรารู้ว่าบ้านอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยเสมอไปสำหรับผู้หญิงหลายคนทั่วออสเตรเลีย และนั่นเป็นการตัดสินใจหนึ่งที่ยากลำบากที่สุดที่เราต้องทำ” นายมอร์ริสัน กล่าว

ผู้หญิงที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานหรือมีภูมิหลังเป็นชาวพื้นเมือง และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนภูมิภาค มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว
Elfa Moraitakis
SydWest Multicultural Services CEO Elfa Moraitakis Source: SBS
ในซิดนีย์ตะวันตก มีการเปิดตัวบริการใหม่ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัว ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

มีการจัดหาล่ามแปลภาษาและที่พักให้แก่เหยื่อ โดยคำนึงถึงความต้องการพิเศษด้านศาสนาและวัฒนธรรมด้วย

คุณ เอลฟา โมไรทาคิส ผู้บริหารของบริการ ซิดเวสต์ มัลทิคัลเชอรัล เซอร์วิสซีส (SydWest Multicultural Services) ซึ่งให้ความช่วยเหลือปัญหาสังคมหลากหลายในชุมชนซิดนีย์ตะวันตก กล่าวว่า มีความท้าทายที่ไม่เหมือนคนอื่นทั่วไป สำหรับผู้หญิงบางกลุ่ม ซึ่งทำให้พวกเธอไม่อาจก้าวออกมาจากบ้านที่มีความรุนแรงในครอบครัว

“มีความกลัวสำหรับผู้หญิง ที่มีความไม่แน่นอนด้านสถานะวีซ่า และพวกเธอยังวิตกเกี่ยวกับการถูกโดดเดี่ยวจากชุมชนของตน และมีความกลัวเรื่องการจ้างงานในอนาคตด้วย” คุณโมไรทาคิส กล่าว

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย ได้จัดงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัว

และรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ยังได้ประกาศให้งบเพิ่มขึ้นอีก 12 ล้านดอลลาร์ สำหรับจัดสรรให้แก่บริการต่างๆ ด้านความรุนแรงในครอบครัว

ผู้ใดที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวดังที่กล่าวมาในเรื่องนี้ คุณสามารถโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือหรือรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลข 1800 737 732 ติดต่อบริการแปลและล่ามฟรี เพื่อช่วยในการสนทนาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 13 14 50


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

 


Share