คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

What to prepare before having COVID?

คุณหมอแนะนำสิ่งของต่างๆ ที่ควรเตรียมไว้ให้พร้อมตั้งแต่เรายังไม่ติดโควิด Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

เราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการติดเชื้อโควิดอย่างไร อะไรที่เราต้องทำก่อนติดเชื้อ ยาและสิ่งของอะไรบ้าง ที่เราควรเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจะให้มีใช้ทันทีเมื่อติดเชื้อ และสิ่งที่ต้องเตรียมกรณีป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล พร้อมคำอธิบายว่าถ้าเพิ่งหายจากโควิด เราจะไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตได้เมื่อใด พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไปในเมลเบิร์น มีคำแนะนำ


กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
What to prepare now before you have COVID image

คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

SBS Thai

28/01/202218:34
คุณหมอ ศิราภรณ์ ทาเกิด ย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่ตอนยังไม่ติดเชื้อ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยให้หากติดเชื้อจะมีอาการป่วยไม่รุนแรงคือ การไปรับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์ช็อต

“สิ่งที่หมอแนะนำให้ทุกคนยังทำอยู่คือ ให้ไปฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ถ้าคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วสองเข็ม สามารถไปฉีดบูสเตอร์ได้แล้ว 3 เดือนหลังฉีดเข็มสอง ให้รีบไปฉีดกัน อันนี้สำคัญมาก”
เราสามารถไปฉีดบูสเตอร์ได้แล้ว 3 เดือนหลังฉีดเข็มสอง ให้รีบไปฉีดกัน อันนี้สำคัญมาก
การฉีดวัคซีนต้านโควิดเป็นสิ่งสำคัญที่เรายังคงต้องทำอยู่
การฉีดวัคซีนต้านโควิดเป็นสิ่งสำคัญที่เรายังคงต้องทำอยู่ Source: Pixabay
คุณหมอได้แนะนำถึงสิ่งที่ควรเตรียมไว้ติดบ้าน หากติดเชื้อโควิดและต้องกักตัว เราจะได้มีพร้อมใช้ จะได้ไม่ต้องลำบากในการจัดหาขณะที่ป่วย ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาพาราเซตตามอล ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
  • ยาที่เราใช้ประจำหากเรามีประจำตัว
  • ยารักษาอาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ (cold and flu tablets)
  • ผงเกลือแร่ หรือน้ำเกลือแร่
  • ยาบรรเทาอาการเฮย์ฟีเวอร์ (hay fever อาการแพ้เกสรหรือละอองพืช) ยาแอนตีฮิสตามีน (Antihistamine ยาแก้แพ้)
  • ยาแก้ปวดท้อง ในกลุ่มที่คล้ายๆ ยาธาตุน้ำขาวในเมืองไทย
  • หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ถุงมือยาง ผ้าเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ สเปรย์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อปนพื้นผิว
  • ปรอทวัดไข้
  • อาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น เช่น ผ้าอนามัย กระดาษทิชชู กระดาษชำระ หากมีลูกที่เป็นเด็กเล็ก ต้องเตรียมนมผง ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็กอ่อน (baby wipes) โดยมีให้เพียงพอสำหรับ 2 สัปดาห์
  • ชุดตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลรวดเร็ว (Rapid antigen tests) คุณหมอแนะนำว่า “กลุ่มคนที่ถือบัตรสิทธิ์ส่วนลด (concession card) เช่น คนที่ถือบัตรผู้รับเงินบำนาญ (pensioner) หรือ คนที่ถือบัตรผู้สูงอายุ (senior card) หรือผู้ถือบัตรดูแลสุขภาพ (health care card) สามารถไปขอรับชุดตรวจเชื้อโควิดแบบทราบผลรวดเร็วได้ฟรีจากร้านขายยาต่างๆ โดยรับได้ฟรี 10 ชุดต่อ 3 เดือน จึงขอให้ผู้มีบัตรเหล่านี้ลองไปถามร้านขายยาใกล้บ้านดูว่าเรามีสิทธิ์หรือไม่”
  • สิ่งที่ไม่จำเป็น แต่หากหามาใช้ได้ก็ดี คือ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximeter) “หลายๆ คนถามหมอว่าควรจะมีติดบ้านไว้ไหม ถ้าเราสามารถหาซื้อได้ ก็อาจมีประโยชน์ แต่ในออสเตรเลียที่เมื่อเราติดโควิดและแจ้งไปยังส่วนกลางที่จะมีการติดตามอาการป่วยของเรา ถ้าเราติดโควิดและเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง ทางรัฐบาลจะส่งเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Oximeter) ไปให้ที่บ้าน เพราะฉะนั้น อย่ากังวลมาก ถ้าเราไม่มี” คุณหมอศิราภรณ์ กล่าว
  • แผนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (emergency plan) คุณหมออธิบายว่า “เป็นแผนว่าถ้าเกิดเรามีเหตุจำเป็นที่ทำให้เราต้องกักตัวที่บ้าน ออกไปไหนไม่ได้เลย เราควรจะติดต่อใคร เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก ที่เขาจะซื้ออาหารหรือซื้อของมาส่งให้เราได้ ให้จดรายชื่อไว้เลยว่าใครที่เราจะขอความช่วยเหลือได้”
  • กิจกรรมที่จะช่วยไม่ให้เราเบื่อ หากต้องกักตัวอยู่บ้าน 7 วันโดยเฉพาะคนที่อยู่คนเดียว
  • หมายเลขโทรศัพท์ของบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการป่วย เช่น Nurse on Call (1300 60 60 24 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง) หมายเลขโทรศัพท์ของแพทย์จีพีประจำตัว หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดของรัฐต่างๆ หรือโทรศัพท์สายด่วนที่โทรได้จากทั่วประเทศ (National Coronavirus Helpline ที่หมายเลข 1800 020 080 ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง)  และ 000 สำหรับการเรียกรถพยาบาล (หากพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง สามารถโทรหาล่ามของ TIS ที่ 131 450 เพื่อให้ล่ามช่วยในการพูดคุยกับบริการเหล่านี้ได้)
  • กรณีหากป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องแจ้งบุคคลที่โรงพยาบาลจะติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน “เวลาไปโรงพยาบาล เขาก็จะถาม next of kin (ผู้ที่จะติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน) คือใคร เราต้องให้หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเขาไว้ด้วย” คุณหมอกล่าว พร้อมเสริมว่า “อีกอย่างที่ต้องวางแผนไว้หากเรามีลูกหรือมีน้องหมาน้องแมว คือใครที่จะสามารถช่วยดูแลลูกเราได้ หรือช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของเราได้ หากเราป่วยจริงๆ จนต้องเข้าโรงพยาบาล”
ขณะที่ตอนนี้ ทั่วประเทศออสเตรเลียนั้น ผู้คนที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่สองไปแล้ว 3 เดือนจะสามารถไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์ช็อตได้ แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิดอาจมีคำถามว่า แล้วตนจะไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เมื่อใด คุณหมออธิบายว่า “ขณะนี้มีแนวทางปฏิบัติคือ เราจะฉีดบูสเตอร์ได้ หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสองไปแล้ว 3 เดือนและเราหายจากอาการของโควิดแล้ว  เช่น ถ้าเราติดเชื้อไปเมื่ออาทิตย์ก่อน เรากักตัว 7 วันแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันเรารู้สึกว่าเราฟื้นตัวกลับมาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีอาการไอ ไม่มีอาการใดๆ และขณะนั้นผ่านไปประมาณ 3 เดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว ให้รีบไปรับการฉีดบูสเตอร์เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านไป 3 เดือนหรือ 6 เดือนหลังติดโควิด”
หากเราฟื้นตัวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่มีอาการใดๆ และขณะนั้นผ่านไป 3 เดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว ให้รีบไปฉีดบูสเตอร์เลย
“หมอเห็นว่ามีคนหลายๆ คนที่เข้าใจผิดว่า ติดโควิดแล้ว จะไม่ติดอีก อันนี้ไม่จริง เพราะหมอมีคนไข้ที่ติดโควิดและหลังจากนั้นแค่ประมาณ 6 อาทิตย์ เขาก็ติดโควิดอีกเป็นครั้งที่สอง จากการวิจัยพบว่า คนที่ติดโควิดแล้วมีโอกาสติดเชื้อซ้ำมากกว่าคนที่ฉีดบูสเตอร์ (วัคซีนเข็มกระตุ้น) เพราะฉะนั้น คนที่ฉีดวัคซีน 3 เข็มให้ภูมิคุ้มกันเรามากกว่าคนที่ติดโควิดมาก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าครบสามเดือนหลังฉีดเข็มสองแล้ว และอาการป่วยของเราหายแล้ว ให้รีบไปฉีดบูสเตอร์ค่ะ”
มีคนเข้าใจผิดว่า ติดโควิดแล้ว จะไม่ติดอีก อันนี้ไม่จริง เพราะหมอมีคนไข้ที่ติดโควิดและหลังจากนั้นแค่ 6 อาทิตย์ เขาก็ติดโควิดอีกเป็นครั้งที่สอง
ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเตรียมอย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างของยาที่สามารถหาซื้อได้ในออสเตรเลีย รวมทั้งความเห็นของคุณหมอ กรณีบางคนจงใจที่จะติดเชื้อ เพราะคิดว่าติดแล้วจะไม่ป่วยหนักอย่างแน่นอนและจะได้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ  ติดตามฟังประเด็นเหล่านี้ได้จากบทสัมภาษณ์เต็มๆ ที่นี่
LISTEN TO
What to prepare now before you have COVID image

คุณหมอแนะอะไรที่ควรเตรียมให้พร้อมใช้ตั้งแต่ก่อนติดเชื้อ

SBS Thai

28/01/202218:34
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share