VIVA: จะใกล้ชิดกับลูกหลานทางออนไลน์ได้อย่างไร

Teaching grandma using computer

Source: Getty Images/PhotoTalk

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ปู่ย่าตายายนั้น มีบทบาทสำคัญในครอบครัวชาวออสเตรเลีย แต่เมื่อรัฐบาลได้ขอให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา การแยกห่างทางสังคม ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทและความใกล้ชิดของพวกเขาต่อสมาชิกในครอบครัวไปในหลายด้าน


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ก่อนที่วิกฤตไวรัสโควิด-19 จะมาถึง ผู้สูงวัยชาวออสเตรเลียจำนวนมาก เริ่มหันมาเรียนรู้ทักษะการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการสื่อสาร

การวิจัยโดยศูนย์วิจัยผลกระทบทางสังคม (Centre for Social Impact) พบว่า 1 ใน 3 ของผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีความตระหนักรู้ทางดิจิทัลในระดับต่ำ และไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลหรืออินเทอร์เน็ต โดยแนวโน้มดังกล่าวนั้นลดต่ำลงมา ในกรณีของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งพบว่าไม่มีการปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัลในกลุ่มอายุนี้มากถึง 3 ใน 4

คุณเอลิซาเบธ ชอว (Elizabeth Shaw) นักจิตวิทยามากประสบการณ์ จากหน่วยงานความสัมพันธ์ออสเตรเลียในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Relationship Australia NSW) กล่าวว่า ความต้องการในการติดต่อกับลูกหลานในพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนไม่คุ้นเคย ได้สร้างความวิตกกังวลและความโดดเดียวกับพวกเขาเป็นอย่างมาก

“บรรดาปู่ย่าตายายพบว่า มันยากลำบากมาก พวกเขารู้สึกแปลกแยกและสับสนอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้พบกับลูกหลานในช่วงนี้ และถึงแม้จะมีบางส่วนที่เปลี่ยนมาสานสัมพันธ์ทางออนไลน์อย่างง่ายได้ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีบุคลอื่น ๆ ที่พบว่าการเปลี่ยนผ่านสู่สายสัมพันธ์ทางออนไลน์นั้นเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น ช่องทางที่เราใช้สื่อสารกันอาจไม่มีความเท่าเทียมกับพวกเขา” คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าว

เธอยังกล่าวอีกว่า การขาดความใกล้ชิดทางกาย เป็นเรื่องยากมากสำหรับปู่ย่าตายายหลายคนที่ต้องการดูแลลูกหลาน มีสายโทรศัพท์เข้ามาที่หน่วยงานเป็นจำนวนมากจากผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ติดต่อกับลูกหลานผ่านทางวิดีโอคอล

“ไม่ว่าจะเป็น Skype หรือการมาพบกันจริง ๆ เป็นประจำ อย่ารอเพียงโอกาสที่จะได้พูดคุย หรือรอว่าใครจะว่าง แต่ต้องลองมีการจัดเวลาให้เป็นระบบ” คุณชอวกล่าว

คุณเอฟฟิ แอตกินส์ (Effie Atkins) คุณยายเชื้อสายกรีกในนครเมลเบิร์น ยังคงอยู่ใกล้ชิดกับหลาน ๆ ของเธอ ขณะที่ยังคงยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาลงให้น้อยที่สุด เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด

แม้เธอจะอยู่ห่างไกลจากหลาน ๆ แต่เธอก็ยังสามารถสานสัมพันธ์ร่วมกับพวกเขาผ่านทางวิดีโอคอล

“เราทำสวนกันทางไกล เด็ก ๆ ก็จะถามฉันว่า ยาย่า วันนี้เราจะปลูกอะไรกันดี แล้วฉันก็บอกให้พวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อปลูกต้นไม้ พอพวกเขาปลูกเสร็จแล้วก็จะถ่ายรูปส่งมาให้ หรือโทรวิดีโอผ่านซูมให้ฉันเห็นว่าพวกเขาทำอะไรกันวันนี้” คุณเอฟฟี แอตกินส์ เล่า

นอกจากนี้ คุณแอตกินส์ ยังแสดงความกังวลว่า ปูย่าตายายเชื้อสายกรีกคนอื่น ๆ อาจรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อต้องอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากพวกเขามีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบรรดาลูกหลานในครอบครัวมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันอย่าง Zoom หรือ FaceTime ได้ 

เธอเล่าว่า สิ่งที่ลูก ๆ สามารถทำได้ คือการขับรถพาหลาน ๆ มาโบกมือทักทายปู่ย่าตายายที่บ้านในระยะปลอดภัย แม้จะไม่สามารถอยู่ใกล้กันได้ แต่พวกเขาก็ยังได้เห็นว่า ปู่ย่าตายายยังคงอยู่กับพวกเขา ไม่ใช่เพียงแค่โทรหาได้อย่างเดียว

คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าวว่า หลายครอบครัวอย่างคุณแอตกินส์ กำลังสร้างสรรค์วิธีใหม่ในการสานสัมพันธ์ให้ใกล้กัน โดยไม่ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา

“บางครอบครัวมีลูกหลานมาเยี่ยมปู่ย่าตายายที่บ้านพวกเขาก็จะยืนคุยกันในสวน หรือไม่ก็ยืนคุยกันตรงประตูหลังบ้าน หรืออะไรทำนองนั้น เพื่ออย่างน้อยก็ได้เห็นและโบกมือทักทายกัน บางครอบครัวก็มีปิคนิคในสวน บางที่ปู่ย่าตายายก็อยู่ที่บ้าน แต่ก็จะใช้วิธีคุยออกมาจากในบ้าน” คุณชอวกล่าว

ดร.โจแอน ออร์แลนโด (Dr Joanne Orlando) ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและดิจิทัลไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า การใช้งานแอปพลิเคชันสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Zoom, Skype และ FaceTime กับลูกหลาน สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากกว่าการคุยกันผ่านตัวอักษร

“ดิฉันเคยเห็นบางครอบครัวที่ปู่ย่าตายายสอนทำกับข้าวแบบง่าย ๆ ให้หลาน ๆ แล้วพวกเขาก็ทำกับข้าวด้วยกัน จากนั้นก็นั่งคุยกันและกินอาหารที่ทำเสร็จ มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ และมันก็อาจจะเป็นกิจกรรมอื่นใดก็ได้ ที่เป็นมากกว่าการส่งข้อความหากัน เช่น การเปิดเพลงฟัง หรือการเต้นด้วยกัน หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เคยทำด้วยกันมาก่อน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom คุณออร์แลนโด กล่าว

คุณทามารา คิดด์ (Tamara Kidd) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา แนะนำว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะการเป็นนักเรียนให้ลูกหลานสอน ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการสานสัมพันธ์ทางดิจิทัลให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เธอเชื่อว่าเด็ก ๆ จะยังไม่รู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เรียนมา จนกว่าพวกเขาจะได้สอนสิ่งเหล่านั้นกับใครสักคน

คุณคิดด์ แนะนำว่า การให้พวกเขาสอนคุณ ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ จะเป็นการส่งเสริมการเรียนของลูกหลานให้ลึกซึ้งมากขึ้น การสลับบทบาทให้พวกเขาเป็นครูนั้น เป็นโอกาสที่ดีในการทำให้ลูกหลานรู้สึกสนุกสนาน และแบ่งเบาภาระปู่ย่าตายายในการต้องออกแบบกิจกรรมหรือบทเรียนสนุก ๆ อยู่ตลอดเวลา

คุณโมนา เปเรซ (Mona Perez) คุณแม่ลูกสองในนครบริสเบน กำลังกังวลว่าลูกสาวของเธอ อาจเรียนตามไม่ทันเพื่อนในชั้นเรียนภาษาจีน เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เธอจึงให้แม่ของเธอ ซึ่งมีเชื้อสายไต้หวัน ช่วยสอนลูกสาวของเธอผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom

“สิ่งนี้แตกต่างจากการเรียนในโรงเรียน ฉันขอให้พวกเขาพูดภาษาจีนกลางในชั้นเรียน และสอนคำต่าง ๆ ให้กับเธอ แม่ของฉันจะสอนวิธีเขียนตัวอักษร และเขียนให้ดูบนหน้าจอ มันอาจไม่เป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่เธอก็ได้เรียนรู้” คุณเปเรซกล่าว

คุณไบรอัน คอร์เนอร์ เป็นอดีตประธานและผู้ให้คำแนะนำกับองค์กรอาสาสมัคร Brisbane Seniors Online ซึ่งให้การฝึกสอนทักษะคอมพิวเตอร์ให้กับผู้สูงวัยในพื้นที่ Great Brisbane เขาเตือนผู้สูงวัยที่เพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ให้ระมัดระวังการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลที่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบนโลกออนไลน์

"ผมจะไม่แนะนำให้ใครก็ตาม ใส่ชื่อและนามสกุลจริง รวมถึงวันเดือนปีเกิด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ใส่แต่วันและเดือนเท่านั้น แล้วทิ้งมันไว้แบบนั้น อย่าให้ที่อยู่ของคุณ คุณอาจบอกได้ว่าคุณอยู่แถวไหน บอกแค่ชื่อเมืองของคุณ เพียงเท่านั้นก็เพียงพอแล้วคุณไบรอัน คอร์เนอร์ กล่าว

คุณคอร์เนอร์ ยังแนะนำว่า ควรใช้ความระมัดระวังในสิ่งที่คุณแชร์บนโลกออนไลน์ เนื่องจากบุคคลแปลกหน้าทางออนไลน์มีความอันตรายมากกว่าเดิม โดยผู้ไม่หวังดีสามารถเปลี่ยนโปรไฟล์ของพวกเขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในความเสี่ยงได้

"สำหรับเด็กเด็ก ยิ่งคุณให้ข้อมูลของพวกเขาบนโลกออนไลน์น้อยลงเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น และสำหรับปู่ย่าตายาย ควรสอดส่องดูแลว่า เด็ก ๆ ได้ให้ข้อมูลอะไรบ้างบนอินเทอร์เน็ต" คุณคอร์เนอร์กล่าว

สำหรับปู่ย่าตายายที่แชร์ภาพความประทับใจของลูก ๆ หลาน ๆ บนโลกออนไลน์ คุณคอร์เนอร์แนะนำว่า ควรจัดการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อจำกัดการเข้าถึงรูปภาพต่าง ๆ ที่คุณโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรเปิดกว้างให้เห็นโดยใครก็ได้ และควรได้รับการตั้งค่าอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่า ควรตั้งให้เห็นได้แค่เพียงเพื่อนของคุณเท่านั้น หรือเพียงแค่เพื่อนของเพื่อน

ดร.แฮส เดลลอล (Dr Hass Dellal) หัวหน้ามูลนิธิพหุวัฒนธรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Multicultural Foundation) และประธานคณะกรรมการของ SBS ที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน กล่าวว่า สำหรับปู่ย่าตายายในครอบครัวที่มีหลายช่วงอายุ ยังสามารถที่จะมีเวลากับลูกหลานที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี ในการร่วมติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ 

โดยมูลนิธิพหุวัฒนธรรมแห่งออสเตรเลีย ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน CyberParent ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถใช้งานได้มากถึง 17 ภาษา เพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ และปู่ย่าตายาย เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รวมถึงแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม

"มีข้อสรุปว่า ชุมชนผู้สูงอายุนั้นมีความสามารถในการใช้งานโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราสนับสนุนก็คือ ให้เชาวชนอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ รวมถึงปู่ย่าตายายของพวกเขา และสอนให้พวกเขาใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ และจากการทำสิ่งนั้น เรายังพบว่า มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนที่พัฒนาไปในทางบวก เนื่องจากผู้คนจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกัน" ดร.แฮส เดลลอล กล่าว

แต่สำหรับปู่ย่าตายายที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านเทคโนโลยี คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าวว่า บทสนทนาที่เหมาะสมในการพูดคุยทางโทรศัพท์ อย่างเช่น ข่าวคราวในแต่ละวัน หรือแบ่งปันเรื่องราวชีวิตในอดีตที่ผ่านมา ก็สามารถที่จะกระชับความสัมพันธ์ได้อย่างยาวนาน

“เราอาจถามคำถามซึ่งเป็นปลายปิด เช่น วันนี้เป็นอย่างไร ทำการบ้านหรือยัง ฉันคิดว่ามันควรเป็นคำถามที่อธิบายถึงสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละวัน เช่น วันนี้มีอะไรน่าสนใจ คำถามลักษณะนี้ จะนำมาซึ่งคำตอบที่มีเรื่องราวและอาจมีประโยชน์ ปู่ย่าตายายอ่านเริ่มต้นบทสนทนา อย่างเช่น วันนี้ได้เห็นนั้นหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้สร้างการสนทนา แม้ว่าคนที่คุณพูดด้วยจะเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว เพราะมันเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจ มันไม่ใช่บทสนทนาในเชิงตรวจสอบ" คุณเอลิซาเบธ ชอว กล่าว

สำหรับคุณแอตกินส์ ตอนนี้เธอกำลังวุ่นวายเกี่ยวกับการเขียนอัตชีวประวัติของเธอ เกี่ยวกับชีวิตในประเทศกรีซ และเรื่องราวการออกเดินทางเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในออสเตรเลียเมื่อหลาย 10 ปีก่อน นั่นคือเรื่องราวชีวิตที่เธอรู้สึกสนุกที่จะบอกเล่าแบ่งปันกับลูกหลานผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์    

"พวกเขาขอให้ฉันเล่าเรื่อง เพราะว่าฉันเกิดและโตที่ประเทศกรีซ และฉันก็มีหลายเรื่องที่จะเล่า ทั้งเรื่องราวชีวิตเด็กสาวในหมู่บ้านเล็ก ๆ และสิ่งที่ฉันทำในวัยเยาว์ รวมถึงสิ่งที่ฉันกำลังเขียนอยู่ในตอนนี้ ซึ่งบางครั้งฉันก็เล่าเป็นย่อหน้าเล็ก ๆ ให้หลาน ๆ ฟัง พวกเขาอยากฟังมาก แม้ฉันจะไม่ได้อยู่ใกล้พวกเขา แต่อย่างน้อย นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราใกล้กัน" คุณเอฟฟี แอตกินส์ กล่าว

สำหรับเคล็ดลับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงทักษะทางออนไลน์ขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้งานโซเชียลมีเดีย และการทำธุรกรรมทางออนไลน์ โปรดไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ไปที่เว็บไซต์

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับมิจฉาชีพ และอันตรายทางออนไลน์ ไปที่เว็บไซต์

หากคุณต้องการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว ปัญหาในครอบครัว และปัญหาในการทำงาน  คุณสามารถโทรหาบริการ Time 2 Talk ของ Relationships Australia NSW ได้ฟรี ที่หมายเลขโทรศัพท์ วันจันทร์-ศุกร์ 9:00 – 17:00 น.

สำหรับบริการสนับสนุนด้านอารมณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โปรดโทรหา ที่หมายเลข 13 11 14 หรือโทรหา ที่หมายเลข 1300 22 4636

หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โทรหา TIS National ที่หมายเลข 13 14 50 และขอให้ล่ามต่อสายไปยังบริการสนับสนุนจากองค์กรที่คุณต้องการ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share