รู้ทันกลโกงแชร์ลูกโซ่

คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission หรือ ASIC)

คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission Source: ASIC

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

องค์กรดูแลกฎหมายด้านบริการการเงินของออสเตรเลีย เผยกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพใช้ล่อเหยื่อมาติดกับ “แชร์ลูกโซ่”วิธีการร้องเรียนหากพบเห็นแชร์ลูกโซ่ หรือตกเป็นเหยื่อ ความเป็นไปได้ในการติดตามผู้ก่อเหตุที่หลบหนีไปอยู่ประเทศไทย และสารถึงชุมชนไทยเรื่องแชร์ลูกโซ่ออนไลน์


คุณวาร์เรน เดย์ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสด้านข่าวกรองของคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนแห่งออสเตรเลีย หรือเอสิก (Australian Securities and Investments Commission หรือ ASIC) และเป็นกรรมาธิการของเอสิกประจำรัฐวิกเตอเรีย ให้สัมภาษณ์พิเศษเรื่องนี้กับเอสบีเอส ไทย

SBS Thai: การให้บริการด้านการเงิน การลงทุนโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นสิ่งผิดกฎหมายในออสเตรเลียหรือไม่

คุณเดย์ของ ASIC: หากคุณเสนอให้ผู้อื่นมาลงทุน เพื่อจะได้ดอกเบี้ย หรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน คุณต้องมีใบอนุญาตในออสเตรเลีย ซึ่งเรียกว่าคุณสามารถตรวจสอบที่ หากผู้นั้นไม่มีใบอนุญาต คุณก็ไม่ควรลงทุนด้วย เพราะการมีใบอนุญาตหมายความว่าบุคคลนั้นมีเงินสำรองจำนวนหนึ่งที่จะใช้ชำระหนี้ได้ และยังหมายความว่าหากคุณมีข้อพิพาทกับบุคคลนั้น คุณสามารถไปหาผู้ตรวจการแผ่นดินด้านบริการการเงิน หรือ เอเอฟซีเอ (Financial Ombudsman หรือ AFCA) หรือไปหาซึ่งเป็นบริการฟรี และพวกเขาจะช่วยคุณติดตามเงินคืน

SBS Thai: การลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตจากเอสิกมีความเสี่ยงกว่าอย่างไร

คุณเดย์ของ ASIC: เราต้องระลึกไว้ว่าคนจำนวนมากลงทะเบียนบริษัทกับเอสิก ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถจัดตั้งบริษัทได้ แต่สิ่งที่ผมพูดถึงในที่นี่คือการมีใบอนุญาตให้บริการด้านการเงินแห่งออสเตรเลีย หรือ เอเอฟเอสแอล ซึ่งเอสิกออกให้ การจะออกใบอนุญาตให้ได้ คุณต้องผ่านการตรวจสอบโดยเอสิก ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยาวนาน และเราจะพิจารณาทักษะ ประสบการณ์ และระยะเวลาในการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ของบุคคลนั้น เสี่ยงมากที่คุณจะลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต แม้ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในการให้บริการด้านการลงทุนโดยไม่มีใบอนุญาต แต่บ่อยครั้งที่พบเห็นประชาชนลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งพวกเขาจะสูญเงินไป โดยไม่ได้เงินกลับคืนมา แม้ว่าเราจะสามารถหาตัวบุคคลที่กระทำผิดพบ และพวกเขาจะถูกปรับ หรือถูกจำคุก แต่นั่นจะไม่ช่วยให้ประชาชนได้เงินคืน ดังนั้น คำแนะนำจากเราคือ อย่าลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเด็ดขาด

SBS Thai: เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าบุคคลที่มาเสนอการลงทุนให้เรานั้นมีใบอนุญาตถูกต้องจากเอสิก

คุณเดย์ของ ASIC: หากบุคคลนั้นมีใบอนุญาต ในการสื่อสารเพื่อเชิญชวนลงทุนทุกอย่างจากบุคคลนั้น ทั้งการโพสต์บนเฟซบุ๊ก อีเมล โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ หรือสื่ออื่นๆ บุคคลนั้นจะต้องระบุหมายเลขใบอนุญาตให้บริการด้านการเงินแห่งออสเตรเลีย (Australian Financial Services License) หรือหมายเลข AFSL อย่างน้อยคุณจะต้องได้เห็นหมายเลขดังกล่าว แต่สิ่งที่คุณควรทำไม่ว่าจะอย่างไร คือการตรวจสอบชื่อของบุคคลนั้นที่เว็บไซต์ของเอสิก ที่ โดยจะมีเครื่องมือให้คุณค้นหาในทะเบียน หรือโทรศัพท์ไปยังศูนย์ให้บริการทางโทรศัพท์ของเราเพื่อตรวจสอบว่าบุคคลนั้นมีใบอนุญาตหรือไม่ หากคุณพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง เราจะจัดล่ามทางโทรศัพท์ไว้ช่วยเหลือคุณ

SBS Thai: รูปแบบของการลงทุนที่มีการโฆษณาชวนเชื่อกันทางเฟซบุ๊กในหมู่ชุมชนไทยในออสเตรเลีย เช่น ลงทุน 1,000 เหรียญ จะได้ดอกเบี้ย 66 ดอลลาร์ ทุกๆ 10 วันเป็นเวลา 3 เดือน การลงทุนที่จะให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงขนาดนี้ เป็นไปได้หรือไม่ และน่าเชื่อถือหรือไม่

คุณเดย์ของ ASIC: คำตอบสั้นๆ คือ มันไม่น่าเชื่อถือและมันไม่จริง สิ่งที่เราพบเห็นบ่อยๆ คือคนที่เสนอดอกเบี้ยให้ในอัตราที่สูงเช่นนี้นั้น ความจริงแล้วสิ่งที่พวกเขาทำคือจ่ายดอกเบี้ยใหม่ให้แก่คนต่อไปที่มาลงเงิน หากคุณเป็นคนแรกที่ลงเงิน จากนั้นคุณจะได้ดอกเบี้ยตอบแทน คุณจึงคิดว่านี่เป็นเรื่องจริงและทำรายได้ให้คุณ แต่ความจริงแล้ว คือคุณได้รับเงินต้นบางส่วนของคุณคืนจากของเงินต้นของคนต่อไปที่มาลงเงิน และก็ทำเหมือนกันต่อไปเรื่อยๆ อุบายแบบนี้เรียกกันว่า ซึ่งเป็นการนำเงินของคนอื่นที่คิดว่ามาร่วมลงทุนด้วยเอามาจ่ายให้คุณ เมื่อถึงช่วงใดช่วงหนึ่ง คนกลุ่มสุดท้ายที่มาลงทุนด้วยจะสูญเสียเงินของพวกเขาไปทั้งหมด
ตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนไทยในออสเตรเลีย
ตัวอย่างการโฆษณาชวนเชื่อทางเฟซบุ๊กในหมู่ชุมชนไทยในออสเตรเลีย (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai
ตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนไทยในออสเตรเลีย
ตัวอย่างการโฆษณาชวนเชื่อทางเฟซบุ๊กในหมู่ชุมชนไทยในออสเตรเลีย (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai
อีกอย่างหนึ่งคือคุณต้องดูที่อัตราดอกเบี้ยตอบแทน จำไว้ว่าขณะนี้บัญชีธนาคารให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 ในออสเตรเลีย กองทุนเงินซูเปอร์แรนนูเอชัน (เงินเกษียณ) ระยะยาวให้ผลตอบแทนระหว่างร้อยละ 7-9 ต่อปี ดังนั้น การลงทุน 1,000 ดอลลาร์ในกองทุนเงินซูเปอร์ คุณจะได้รับดอกเบี้ยตอบแทน 70-80 ดอลลาร์ต่อปี นั่นเป็นสิ่งที่สถาบันและองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากสามารถเสนอตอบแทนให้คุณได้ หากมีคนมาเสนอแก่คุณผ่านเฟซบุ๊ก หรือใครที่มาบอกคุณว่าสามารถให้ได้มากกว่านั้น คุณต้องถามตัวเองจริงๆ ว่าเพราะอะไรเหตุใดคนเหล่านั้นจึงเก่งขนาดที่ธนาคารและกองทุนเงินซูเปอร์ยังเก่งไม่เท่า นั่นอาจบอกได้ว่าสิ่งที่พวกเขาคุณนั้นมันไม่จริง คุณจึงควรระมัดระวังอย่างมากก่อนที่คุณจะให้เงินแก่พวกเขาไป เพราะมีแนวโน้มว่าหากคุณให้เงินแก่พวกเขาไป คุณอาจไม่ได้เห็นเงินเหล่านั้นอีกเลย

SBS Thai: เหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ใช้กลยุทธ์อย่างไรในการดึงดูดประชาชนให้ไปติดกับของพวกเขา

คุณเดย์ของ ASIC: คุณมักจะได้เห็นเว็บไซต์ที่ดูดี ดูเก๋ไก๋ ดูเป็นมืออาชีพ สิ่งที่คุณจะได้เห็นอีกอย่างคือความเร่งด่วน คนเหล่านั้นอาจบอกคุณว่าเป็นข้อเสนอที่มีจำกัด และจะเสนอให้แค่ภายใน 2 วันนี้เท่านั้น หรือไม่ก็บอกว่าคุณได้รับข้อเสนอนี้เพราะคุณรู้จักใครคนหนึ่ง หรือเพราะคุณเป็นสมาชิกชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เช่นชุมชนไทย เวียดนาม จีน ยูโกสลาเวีย หรือซามัว กลยุทธ์ที่ว่าคุณต้องรีบทำ ภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเป็นมืออาชีพ ข้อเสนอมีให้ในเวลาจำกัดแต่ให้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น กลยุทธ์อีกอย่างคือ หากพวกเขาบอกคุณว่าอย่าบอกคนอื่นเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ ซึ่งมักใช้กันบ่อย อีกสิ่งหนึ่งคือการกดดัน หากคุณบอกว่าคุณสนใจเพียงเท่านั้นเอง คุณจะได้รับโทรศัพท์ หรืออีเมล หรือข้อความมากดดันให้คุณต้องลงเงินทันที หรือบอกว่าหากคุณไม่ลงเงินทันที คุณจะพลาดโอกาส
A sample of Facebook post which shows an unusual rate, luring in new investors.
ตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อตามกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนไทยในออสเตรเลีย (Source: SBS Thai) Source: SBS Thai
นอกจากนี้ เหล่ามิจฉาชีพยังใช้สมาชิกในครอบครัวมาเชิญชวนคนอื่นมาลงทุนด้วย เราได้เห็นตัวอย่างมากมายที่ประชาชนชวนให้ญาติพี่น้องมาลงทุนด้วย แต่สุดท้ายพบว่าเป็นการหลอกลวง จึงทำให้พวกเขาทั้งเสียใจและเศร้าใจที่ดึงครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น ก่อนที่คุณจะชวนคนอื่นให้ไปลงเงินกับสิ่งเหล่านั้น คุณต้องระมัดระวังในสิ่งที่คุณแนะนำเช่นกัน

SBS Thai: การที่มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าพวกเขาลงทุนไปแล้วและได้เงินตอบแทนจำนวนมาก เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่มิจฉาชีพใช้หรือไม่

คุณเดย์ของ ASIC: อย่างที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้ คนที่พูดเช่นนี้ พวกเขาอาจได้รับผลตอบแทนจริง แต่พวกเขาเป็นผู้ลงทุนกลุ่มแรกๆ หากคุณเป็นคนที่มาทีหลัง เงินที่จ่ายให้พวกเขาจะเป็นเงินจากคุณ พวกเขาอาจไม่ประสบกับการสูญเงินไป แต่หากคุณเป็นคนที่มาทีหลัง คุณจะสูญเงินของคุณไป สิ่งที่เราเห็นในบางครั้งคือการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาสิ่งเหล่านี้ เช่น ในต่างประเทศมีการใช้นักกีฬาอาชีพ เราเคยเห็นมีการใช้บุคคลอาวุโสในชุมชนช่วยโฆษณา ดังนั้น คุณจึงควรตรวจสอบเสมอว่าพวกเขามีใบอนุญาตให้บริการทางการเงินหรือไม่ ถามตัวเองว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นสูงเกินกว่าปกติหรือไม่ โดยขอให้จำไว้ว่าอัตราดอกเบี้ยปกติอยู่ที่ราวร้อยละ 2-8 ต่อปี หากพวกเขาเสนอให้ร้อยละ 2-8 ต่อเดือน เมื่อคูณ 12 เดือนต่อปีเข้าไป จะคิดเป็นร้อยละ 80-90 ต่อปี ซึ่งนั่นเป็นไปไม่ได้ หากเพื่อนหรือญาติบอกคุณให้ไปร่วมลงทุน หรือคุณเห็นเพื่อนหรือญาติลงทุนในสิ่งเหล่านี้ คุณต้องต้านทานการเชิญชวนและถามคำถามพื้นฐานดังกล่าวกับตัวเอง

SBS Thai: พอนซี สกีม นี้มีมานานหรือยังและมีที่มาจากไหน

คุณเดย์ของ ASIC: บุคคลแรกที่ว่ากันว่าได้ใช้อุบายให้คือชายคนหนึ่งชื่อ ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) ในสหรัฐ เขาให้สัญญาว่าหากใครส่งแสตมป์การลงทุนมาให้เขา เขาก็จะให้เงินตอบแทนเป็นระยะเวลาหนึ่ง เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 มีคนจำนวนมากส่งแสตมป์การลงทุนมาให้เขา สิ่งที่เขาทำคือนำแสตมป์เหล่านั้นที่มีมูลค่าอยู่ในตัวไปขึ้นเงินที่ธนาคาร เขาบอกกับผู้ลงทุนว่าจะจ่ายเงินคืนให้เป็นสองเท่าของมูลค่าของแสตมป์เหล่านั้น แต่ความจริงแล้วเขาเอาแสตมป์ไปขึ้นเงิน และส่งเงินกลับไปให้คุณทีละนิดๆ แต่แน่นอนว่า เมื่อมีคนหลายร้อยคนส่งแสตมป์ไปให้เขา เขาก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้มาลงทุนกลุ่มหลังๆ ได้ เขาจึงต้องติดคุก และชื่อของเขากลายเป็นชื่ออุบายการหลอกลวงในลักษณะนี้

ที่เอสิก เราพบเห็นอุบายการหลอกลวงแบบนี้ตลอดเวลา ปัญหาคือผู้ที่ใช้อุบายเหล่านี้นั้นมักหาตัวพบได้ยาก เพราะพวกเขาจะซ่อนตัวโดยใช้เฟซบุ๊ก อีเมล หรือเว็บไซต์บังหน้า หากพวกเขาขอให้คุณส่งเงินให้ทางบัญชีธนาคาร แม้ว่าจะเป็นบัญชีธนาคารในออสเตรเลีย แต่ที่เราเคยพบคือ เงินจะถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากออสเตรเลียอย่างรวดเร็ว

ผมเคยสืบสวนการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในเมืองจีลอง รัฐวิกเตอเรียเมื่อไม่กี่ปีก่อน ประชาชนในจีลองสูญเงินไป 70 ล้านดอลลาร์จากอุบายนี้ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทชื่อชาร์ตเวลล์ (Chartwell) ผู้ดำเนินอุบายนี้อยู่ในออสเตรเลีย พวกเขาถูกจับ และแต่ละคนถูกตัดสินจำคุกฐานฉ้อโกง

หากเราหาตัวพวกเขาเจอ เราจะสามารถจับกุมตัวและดำเนินคดีกับพวกเขาได้ แต่สิ่งที่เรามักพบคือในการหลอกลวงส่วนใหญ่เมื่อเกี่ยวข้องกับชุมชนต่างชาติในออสเตรเลีย อย่างชุมชนไทย เวียดนาม หรือยุโรป  คนเหล่านั้นอาจไม่อยู่ในออสเตรเลีย อาจอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งทำให้ตามหาตัวพบยาก และเราไม่สามารถดำเนินคดีกับพวกเขาได้ อีกอย่างหนึ่งคือ แม้ว่าเราจะจับพวกเขาขังคุก แต่เราอาจไม่สามารถติดตามเงินของคุณกลับคืนมาได้ เราจึงย้ำกับประชาชนเสมอว่า พวกเขาทำงานหนักกว่าจะได้เงินมา ดังนั้น พวกเขาจึงควรจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเงินของตน

SBS Thai: หากคนไทยต้องการลงทุนในแหล่งลงทุนที่น่าเชื่อถือ ควรจะทำอย่างไร

คุณเดย์ของ ASIC: มีแหล่งลงทุนที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง หากเป็นการลงทุนระยะยาว คือกองทุนเงินซูเปอร์แรนนูเอชัน (superannuation) หรือกองทุนเงินเกษียณ หากเป็นการลงทุนระยะสั้น ก็มีธนาคารต่างๆ หากคุณไม่แน่ใจ คุณสามารถไปรับคำแนะนำทางการเงินได้จากเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำทางการเงินที่ได้รับใบอนุญาต เอเอฟเอสแอล จากเอสิก งานของพวกเขาคือแนะนำที่ที่ดีที่เพื่อให้คุณลงทุน ความจริงแล้วในชุมชนคนไทย ก็มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำงานการเงินที่มีใบอนุญาต ซึ่งคุณสามารถถามเพื่อนหรือครอบครัวให้แนะนำคนที่มีใบอนุญาตกับคุณได้ แต่สิ่งที่เราขอร้องคือ อย่าลงทุนกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาต และให้คิดให้ดีก่อนจะให้เงินพวกเขาไป เพราะมีแนวโน้มสูงที่คุณจะไม่ได้เงินของคุณกลับคืนมา

SBS Thai: ประชาชนควรทำอย่างไรบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อที่มาชักชวนไปลงทุนในลักษณะเป็นพอนซี สกีม

คุณเดย์ของ ASIC: คุณต้องถามคำถามให้มากๆ หากคนพวกนั้นบอกว่าไม่อยากตอบคำถามของคุณ หรือบอกว่าคุณกำลังเหลือเวลาไม่มากแล้วนะ นั่นเป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าคุณควรหลีกห่าง อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ ให้ตรวจสอบว่าพวกเขามีใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินหรือไม่ หากไม่มี ก็ไม่ควรจะลงทุนกับพวกเขา และขอให้แจ้งให้เอสิกทราบ อีกอย่างคือให้ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย จดไว้แล้วคำนวณอัตราดอกเบี้ยดู หากมากกว่าร้อยละ 2-8 ต่อปี นั่นเป็นไปไม่ได้ หากเป็นไปได้ธนาคารต่างๆ หรือกองทุนเงินซูเปอร์คงให้ดอกเบี้ยมากเท่านั้นแล้ว อย่างที่เรามักพูดกันในออสเตรเลียคือ “หากมันฟังดูดีเกินไปที่จะเป็นเรื่องจริง มันก็คงไม่ใช่เรื่องจริง” แต่กระนั้น เราได้เห็นคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ เราเคยเห็นทั้งหมอ ทั้งทนายความ ที่ถูกดูดให้ติดกับจากสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น ขอให้ระวัง อย่ากลัวที่จะถาม ไม่ต้องรีบร้อน อย่าคิดว่าเราจะดูไม่ฉลาดที่ถามคำถาม ให้ถามพวกเขาไปเลยว่า ทำไมถึงให้ดอกเบี้ยขนาดนี้ได้ เพราะธนาคารหรือกองทุนเงินซูเปอร์ยังให้ดอกเบี้ยเท่านี้ไม่ได้เลย ยิ่งพวกเขาเล่าเรื่องให้คุณฟังมากเท่าไร คุณจะยิ่งตระหนักมากขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก นอกจากนี้ เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับการหลอกลวงรูปแบบต่างๆ และการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ ที่เว็บไซต์ของเราที่

SBS Thai: เราจะแจ้งการหลอกลวงทางการเงินหรือการฉ้อโกงได้อย่างไร

คุณเดย์ของ ASIC: คุณสามารถแจ้งกับเอสิกได้ โดยไปที่เว็บไซต์ แล้วจะมีหัวข้อ  ซึ่งจะแนะวิธีการร้องเรียนกับเอสิก คุณอาจไปหาตำรวจได้ แต่เพราะมันเกี่ยวกับการการลงทุน ตำรวจอาจไม่รับเรื่องไว้ เพราะอาจเห็นว่าเป็นเรื่องการลงทุน จึงเป็นเรื่องของเอสิก แต่เราต้องการทราบเรื่องเหล่านี้ เราต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการหลอกลวงที่เกิดขึ้น เช่น คุณไปพบกลการหลอกลวงนี้จากที่ไหน หากพบบนเว็บไซต์ หรือตามหน้าเฟซบุ๊ก คุณมีภาพถ่ายหน้าจอที่คุณสามารถแสดงให้เราดูได้หรือไม่ หรือมีภาพถ่าย หรือสำเนาอีเมลที่ส่งมาหาคุณหรือไม่ หากมีรายละเอียดบัญชีธนาคารที่พวกเขาบอกให้คุณโอนเงินไปให้ เราก็อยากได้รายละเอียดเรื่องนี้ด้วย เพราะมันจะช่วยให้เราเห็นภาพว่าบริษัทเหล่านั้นและบุคคลที่อยู่เบื้องเหล่านั้นดำเนินการจากที่ใด โดยเราจะสามารถเข้าไปดูในบัญชีธนาคารว่ามีเงินอยู่เท่าใดและเงินไปไหน ซึ่งจะข้อมูลเชิงลึกที่บอกเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และใครเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้น เราจะสามารถเริ่มตั้งคำถามกับบริษัทหรือบุคคลเหล่านั้นได้

SBS Thai: หากบุคคลนั้นหลบหนีไปยังประเทศไทย มีหนทางที่จะดำเนินคดีได้หรือไม่

คุณเดย์ของ ASIC: มีทางที่จะทำได้ หากเราบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร และเราสามารถบอกและแสดงให้เห็นได้ว่าเงินถูกย้ายไปไหน และหายไปอย่างไร หรือเงินนั้นเป็นเงินจากการฉ้อโกง เรายังมีความสัมพันธ์ตำรวจไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เราเคยร่วมงานกับพวกเขามาก่อนเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินประเภทนี้ เรายังมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับออสเตรเลีย หากพวกเขาก่ออาชญากรรมที่นี่ แต่กลับไปอยู่ที่ประเทศไทย เราสามารถยื่นขอนำตัวพวกเขากลับมาออสเตรเลียได้

SBS Thai: คุณวาร์เรน เดย์ ในฐานะผู้อำนวยการบริหารของเอสิก อยากฝากสาระสำคัญอะไรถึงชุมชนไทย

คุณเดย์ของ ASIC: ชุมชนไทยเป็นกลุ่มคนที่ดีเยี่ยม เป็นคนใจกว้างและเปิดใจยอมรับผู้อื่น บางครั้งจึงอาจยากที่พวกเขาจะรู้สึกสะกิดใจหรือรู้สึกไม่ไว้วางใจ เมื่อญาติมิตรบอกว่ามีสิ่งดีๆ ที่ควรไปลงทุน แต่ผมขอย้ำอีกครั้ง ให้คุณถามคำถามที่ผมกล่าวไปแล้วทุกครั้ง ว่าธุรกิจเหล่านี้ที่ต้องการเงินที่เราหามาอย่างยากลำบากมีใบอนุญาตให้บริการทางการเงินในออสเตรเลียหรือไม่ (Australian Financial Services License) ถ้าไม่มี อย่าลงทุน ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่เสนอสูงมาก ซึ่งธนาคารและกองทุนเงินซูเปอร์ยังไม่สามารถให้ได้ คุณก็ควรบอกกับตัวเองว่า เราจะไม่ลงทุน เพราะมันฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริงและคงไม่ใช่เรื่องจริง อย่ารู้สึกว่าเราต้องคล้อยตามไปกับคนอื่น อย่างที่เกิดขึ้นที่เมืองจีลอง คนจำนวนมากแนะนำให้ญาติมิตรลงทุนด้วยกัน จากนั้น ทุกคนก็สูญเงินไปทั้งหมด มีสามีภรรยาที่ต้องหย่ากันเพราะเรื่องนี้ พ่อหรือแม่ที่ไม่สามารถคุยกับลูกได้อีกต่อไป เพราะความอับอายและความรู้สึกผิด เนื่องจากเป็นคนชวนให้ครอบครัวไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงดีกว่าที่เราจะถามคำถามต่างๆ แล้วบอกว่า “ไม่ เราจะไม่ถูกกดดัน เราจะไม่ลงทุนกับสิ่งนั้น” ดีกว่าที่จะต้องทนกลัดกลุ้มกับการสูญเงินไปหมดและยังได้ชวนคนอื่นให้เสียเงินไปกับเราด้วย สาระสำคัญสำหรับชุมชนไทยคือ อย่ากลัวที่จะตอบปฏิเสธ อย่ากลัวที่จะบอกว่า มันฟังดูดีเกินจริง แล้วหลีกเลี่ยงเสีย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลการหลอกลวงด้านการเงิน และร้องเรียนหากตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงด้านการเงินได้ที่เว็บไซต์ของเอสิก ที่นี่

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แชร์ลูกโซ่:ภัยร้ายคู่ชุมชนไทย


Share