Explainer

ทำไมเฮย์ ฟีเวอร์ ในออสเตรเลียปีนี้จึงรุนแรงกว่าที่ผ่านมา

มีคำเตือนให้ผู้ป่วยไข้ละอองฟาง หรือเฮย์ ฟีเวอร์ (Hay fever) ให้ระมัดระวังระดับละอองเกสรดอกไม้ที่รุนแรง และฤดูกาลภูมิแพ้ที่อาจรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña)

A man holds a tissue to his nose while standing next to a bush

Australians are being warned of extreme pollen levels as hay fever season gets a late start. Source: Getty / Angelika Warmuth/dpa/picture alliance

ผู้คนในออสเตรเลียจำนวนมากได้ผ่อนคลายกับสภาพอากาศที่อบอุ่นในที่สุด ขณะที่ฝนเริ่มตกลงมาน้อยลง แต่สำหรับบางคน วันที่อากาศแจ่มใสอาจไม่ใช่วันที่ดีนัก

มีประชาชนในออสเตรเลียประมาณ 1 ใน 5 ที่มีภาวะภูมิแพ้ละอองเกสรและสิ่งแปลกปลอมในอากาศ หรือไข้ละอองฟาง (hay fever) ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพกำลังเตือนผู้มีภาวะอาการดังกล่าวให้เตรียมรับมือกับระดับละอองเกสรที่รุนแรงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจากฤดูหนาวที่ฝนตกชุกกว่าปกติ ซึ่งขับเคลื่อนโดยรูปแบบสภาพภูมิอากาศลานีญา (La Niña climate pattern)

อาการของไข้ละอองฟางเป็นอย่างไร

ชื่ออย่างเป็นทางการของไข้ละอองฟาง คือโรคแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เว็บไซต์เฮลธ์ไดเร็คท์ (HealthDirect) ของรัฐบาลออสเตรเลียอธิบายถึงภาวะนี้ว่า “เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อจมูกและดวงตาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายของคุณมีความอ่อนไหว” และได้รวบรวมอาการที่เกิดขึ้นทั่วไปไว้ดังนี้
  • คันจมูก มีน้ำมูกไหล หรือคัดจมูก
  • คันตา หรือมีน้ำตาไหล
  • มีอาการจามบ่อย ๆ
  • ต้องหายใจทางปาก
  • ต้องกระแอมอยู่ตลอดเวลา
  • รู้สึกเหมือนเป็นหวัด หนักหัวตลอดเวลา
  • มีอาการนอนกรน

ผู้ป่วยโรคไข้ละอองฟางจะพบกับอะไรในหลายสัปดาห์ที่จะถึงนี้

ฤดูกาลแพ้อากาศปีนี้ถือว่าเริ่มช้าผิดไปจากปกติ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยในตอนนี้ หน่วยงานสาธารณสุขกำลังเตือนประชาชาชนถึงระดับละอองเกสรที่เพิ่มขึ้นจากหญ้าและต้นไม้ที่ออกดอกรวมถึงจากแหล่งอื่น ๆ ขณะที่แสงแดดเริ่มสาดส่อง

คาดการณ์ละอองเกสรโดย เมลเบิร์น พอลเลน (Melbourne Pollen) ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น คาดว่าจะมีปริมาณละอองเกสรในระดับสูงถึงสูงมากทั่วรัฐวิกตอเรียในสัปดาห์นี้

ขณะที่แพทยสมาคมออสเตรเลียรัฐนิวเซาท์เวลส์ (AMA NSW) ได้เตือนประชาชนในระมัดระวัง ขณะที่มีประกาศเตือนพายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด (thunderstorm asthma) ทั่วพื้นที่รัฐ
โจนาธาน โฮว์ (Jonathan Howe) นักพยากรณ์จากสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย กล่าวว่า อากาศอบอุ่นครั้งแรกของฤดูใบไม้ผลิปีนี้ หลังจากฤดูหนาวที่ฝนตกชุกกว่าปกติในหลายพื้นที่ทางตะวันออกของออสเตรเลีย ทำให้ดอกไม้ หญ้า และต้นไม้จำนวนมากเริ่มผลิดอกและออกใบ นอกจากนี้ กระแสลมยังได้พัดพาละอองเกสรบางส่วนเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น ในนครเมลเบิร์น และกรุงแคนเบอร์รา
เราเพิ่งจะได้พบเห็นการระเบิดครั้งใหญ่ของระดับละอองเกสร
โจนาธาน โฮว์ (Jonathan Howe) นักพยากรณ์จากสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย
โดยเฉพาะในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งกำลังพบกับปริมาณเกสรในระดับสูงถึงสูงมาก ขณะที่ระดับละอองเกสรกำลังเพิ่มขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย
เชื่อว่าออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราผู้ป่วยไข้ละอองฟางสูงที่สุดในโลก และติดอันดับ 7 ในหมวดโรคแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ในการวิจัยนานาชาติด้านโรคหอบหืดและภูมิแพ้ในเด็ก (The International Study of Asthma and Allergies in Childhood หรือ ISAAC) ในปี 2006

ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2017/18 ประชากรในออสเตรเลียป่วยเป็นไข้ละอองฟางร้อยละ 19 โดยพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมณฑลนครหลวง ออสเตรเลีย (ACT) ซึ่งมีผู้ป่วยที่มีภาวะอากาศนี้ประมาณร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับประชาชนเพียงร้อยละ 14 ในมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (NT)

ทำไมปีนี้จึงต่างจากปีอื่น ๆ

ศาสตราจารย์ เจเน็ต เดวีส์ (Prof Janet Davies) ประธานกลุ่มวิจัยโรคภูมิแพ้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนสแลนด์ กล่าวว่า ระดับละอองเกสรจากหญ้าในนครเมลเบิร์นจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดระหว่างเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม

ฤดูกาลภูมิแพ้จะเริ่มขึ้นช้าออกไปในพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ดังนั้น ประชาชนในนคร ซิดนีย์และกรุงแคนเบอร์ราก็จะพบกับฤดูกาลนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็อาจจะถึงจุดสูงสุดอีกรอบในฤดูร้อน
A man jogging in a street where the purple flowers of the jacaranda tree are in bloom
ต้นศรีตรัง (Jacaranda) ที่นครซิดนีย์ ออกดอกช้ากว่าปกติในปีนี้ เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นของอากาศอบอุ่นที่ล่าช้า Source: AAP / Bianca De Marchi
ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนสแลนด์ ซึ่งรวมถึงนครบริสเบน ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าวว่า ดูเหมือนจุดสูงสุดของปริมาณละอองเกสรจากหญ้า จะยังไม่เริ่มต้นจนกระทั่งช่วงหลังของฤดูร้อน และอาจขยายไปถึงช่วงเดือนสิงหาคม

แต่จากสภาพอากาศที่เปียกชื้นจากฝนตกชุกกว่าปกติในปีนี้ ดร.เอดวิน แลมพูนิอานี (Dr Edwin Lampugnani) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานจาก เมลเบิร์น พอลเลน (Melbourne Pollen) ระบุว่า การเริ่มต้นของฤดูกาลเกสรดอกไม้ในนครเมลเบิร์นนั้นเกิดขึ้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009

“มันเป็นการเริ่มต้นที่ล่าช้าของฤดูกาลนี้ เรามีวันแรกที่ถึงจุดสูงสุดในวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่สองรองลงมาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 พ.ย.) และนี่ไม่ใช่เรื่องปกติ” ดร.แลมพูนิอานี กล่าวกับเครือข่ายโทรทัศน์ช่อง 10

ดร.แลมพูนิอานี กล่าวอีกว่า เป็นไปได้ที่ฤดูกาลภูมิแพ้จะขยายออกไปจนถึงปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกอะไรในตอนนี้

“เราจำเป็นที่จะต้องดูว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไรในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า”

ปรากฏการณ์ลานีญามีผลกระทบอย่างไร

ศาสตราจารย์เดวีส์ เผยว่า จากการประมาณได้ชี้ว่า ผู้ที่ป่วยเป็นไข้ละอองฟางระหว่างร้อยละ 45-67 แพ้หญ้า งานวิจัยของเธอที่ได้รับการบันทึกลงใน AusPollen Brisbane พบว่า มีระดับละอองเกสรหญ้ามากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4.5 เท่า ซึ่งก็เป็นปีที่มีปรากฏการณ์ลานีญาเช่นกัน และมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

แม้จะมีปัจจัยซับซ้อนจำนวนมากที่มีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ศาสตราจารย์เดวีส์ระบุว่า การวิจัยที่จัดทำเป็นระยะเวลา 4 ปีใน 4 ภูมิภาคของออสเตรเลีย พบละอองเกสรมากขึ้นในฤดูกาลเกสรหญ้า เมื่อมีฝนตกลงมาทั้งก่อนหรือในช่วงฤดูกาล ใกล้กับสถานีตรวจวัดปริมาณเกสรต่าง ๆ
A woman walks across the road while carrying an umbrella in rain
ลักษณะภูมิอากาศลานีญา (La Niña climate pattern) ทำให้เกิดสภาพอากาศที่มีฝนตกมากกว่าปกติ และทำให้หญ้าเจริญเติบโตมากขึ้น Source: AAP
จึงคาดว่าปริมาณฝนที่ตกมากขึ้นเป็นสิ่งกระตุ้นให้หญ้าเจริญเติบโต ซึ่งจากนั้นก็จะปล่อยละอองเกสรในอากา และเมื่อฝนหยุดตก อุณหภูมิ เวลาที่มีแสงแดดนานขึ้น กระแสลม และปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจมีผลกับการผลิตเกสรของหญ้าด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ละอองเกสรหญ้า บางคนอาจประสบอาการแพ้ที่แตกต่างกันในสภาพอากาศที่เปียกชื้นนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดจะกระตุ้นพวกเขาให้เกิดอาการแพ้

ตามปกติ ฝนจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยไข้ละอองฟาง จากการชำระล้างละอองเกสรที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ฝนก็อาจปล่อยเชื้อราบางชนิดไปในอากาศได้ ซึ่งจะสร้างปฏิกิริยาในผู้ที่แพ้เชื้อรา

“อันที่จริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นจะมีความอ่อนไหวต่อสิ่งใด” ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าว

จะทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรเทาอาการไข้ละอองฟาง

ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าวว่า ผู้ป่วยไข้ละอองฟางจำนวนมากจะมองหายาเม็ดรับประทานหรือสเปรยพ่นเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าหากพวกเขามีอาการที่รุนแรงหรือเรื้อรัง สิ่งเหล่านี้ก็จะใช้ได้ผลเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น

“มันจะดีกว่ามากทีจะควบคุมการอักเสบที่แอบแฝงอยู่” ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าว

ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ทำได้โดยการใช้ยาพ่นชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในจมูก หรือที่รู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (steroid nasal spray) ที่ซื้อได้ตามร้านขายยา และแนะนำให้พูดคุยกับเภสัชกร
A woman blowing her nose
ชาวออสเตรเลียที่ป่วยเป็นเฮย์ ฟีเวอร์ ได้รับการเตือนเกี่ยวกับปริมาณเกสรดอกไม้ระดับสูงมากในปีนี้ Source: Getty / Guido Mieth
เธอกล่าวอีกว่า สเปรย์ดังกล่าวจะช่วยลดกระบวนการอักเสบอันทำให้เกิดการอักเสบจากอาการแพ้ และจะได้ผลดีที่สุดหากใช้ก่อนที่อาการแพ้จะแย่ลง
การรักษาและควบคุมการอักเสบที่แอบแฝงด้วยตัวป้องกันนั้นดีกว่าการพยายามที่จะบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียว
ศาสตราจารย์ เจเน็ท เดวีส์
ประชาชนยังสามารถอยู่ในอาคารสถานที่เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับละอองเกสรในวันที่อากาศเลวร้าย หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยคุณภาพดีเมื่อออกไปข้างนอก

นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์สำหรับตรวจสอบระดับละอองเกสรในอากาศ และอีกด้วย

พายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด (thunderstorm asthma)

ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าวว่า หากมีอาการแน่นหน้าอกหรือไอที่เกี่ยวข้องกับไข้ละอองฟางและภูมิแพ้ พวกเขาควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงแอบแฝง หรือภาวะอาการที่อาจเป็นหอบหืด หรือคล้ายโรคหอบหืด

“คุณจะต้องทำให้ดีเพื่อทำให้สิ่งนั้นอยู่ในการควบคุม” ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าว

การไปพบนักภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก อาจช่วยระบุได้ว่าสิ่งใดที่ทำให้คุณเกิดอาการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ นั้น รวมถึงไรฝุ่น รังแคแมว รวมถึงสปอร์จากเชื้อรา และมันยังเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจว่าคุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดจากฝนฟ้าคะนองละอองเกสรหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 10 รายในนครเมลเบิร์น เมื่อปี 2016

พายุหอบหืดนั้นเกิดขึ้นโดยปริมาณเกสรหญ้าในระดับสูงที่สามารถแตกตัวและปล่อยอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองบางรูปแบบ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐวิกตอเรีย กรุงแคนเบอร์รา และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงผู้ที่อาศัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาคทางตอนกลางของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เช่น วักกา วักกา (Wagga Wagga) ดับโบ (Dubbo) และอาจส่งผลกระทบไปไกลจนถึงเมืองแทมเวิร์ธ (Tamworth) ทางตอนเหนือของรัฐ

การศึกษาหลังเหตุการณ์พายุหอบหืดเมื่อปี 2016 พบว่า ผู้คนจำนวนมากซึ่งไม่มีการวินิจฉัยโรคหอบหืด แต่มีปฏิกิริยาต่อละอองเกสรหญ้า ประสบภาวะอาการด้านระบบทางเดินหายใจ หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนมีปฏิกิริยา และร้อยละ 39 ผู้ที่มาโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษา คือผู้คนที่มาจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา และภูมิหลังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไข้ละอองฟาง คุณสามารถไปที่เว็บไซต์ของ เช่นเดียวกับ (คลิกหรือแตะทีชื่อหน่วยงานเพื่อเยี่ยมชม)

Share
Published 10 November 2022 4:54pm
By Charis Chang
Source: SBS


Share this with family and friends