เลือกตั้ง 66 คนไทยในออสเตรเลียคาดหวังอะไรในเมืองไทยให้เปลี่ยนแปลง

เอสบีเอส ไทย พูดคุยกับคนไทยที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากคูหาที่ซิดนีย์ถึงความเห็นและสิ่งที่คาดหวังจากการเลือกตั้งในปีนี้ ด้านกงสุลใหญ่ซิดนีย์แจงละเอียดกระบวนการส่งบัตรเลือกตั้งกลับไทยทุกขั้นตอน

20230430 THAI ELEX SYD ARTICLE FB POST.jpg

Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon

วรรณวิดา จิรเลิศไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวพิเศษ เอสบีเอส ไทย รายงานจากนครซิดนีย์

สุดสัปดาห์นี้ ย่านไทยทาวน์ในนครซิดนีย์เต็มไปด้วยประชาชนชาวไทยทั้งจากละแวกใกล้เคียง และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ห่างไกลในออสเตรเลีย ที่มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2566 ณ จุดลงคะแนนเคลื่อนที่ (mobile unit) ที่โรงแรมเมโทร โฮเทล มาร์โลว์ (Metro Hotel Marlow) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ.2566
ภาพบริเวณจุดปิดประกาศ บริเวณคูหาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนครซิดนีย์
ภาพบริเวณจุดปิดประกาศ บริเวณคูหาเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในนครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
เจ้าหน้าที่กำลังให้บริการคนไทยที่จุดตรวจสอบเขตเลือกตั้ง
เจ้าหน้าที่กำลังให้บริการคนไทยที่จุดตรวจสอบเขตเลือกตั้ง Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เปิดเผยกับ เอสบีเอส ไทย ว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้อำนวยความสะดวกเพื่อให้คนไทยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่คูหา ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การจัดทำอินโฟกราฟิกเพื่อให้ความรู้สำหรับประชาชน เช่น วิธีการลงคะแนนเสียง และสิ่งที่ไม่ควรทำในการเลือกตั้ง รวมถึงมีบริการทำบัตรประชาชนใหม่ภายในเวลา 30 นาที สำหรับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่บัตรประชาชนไทยหมดอายุ

สืบเนื่องจากกรณีเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้บัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์เป็นบัตรเสีย จากการจัดส่งล่าช้าไม่ทันเวลานับคะแนน ท่านกงสุลใหญ่ ฯ เปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีกับบริษัทการบินไทย ซึ่งมีเที่ยวบินเดินทางออกจากซิดนีย์ไปกรุงเทพ ฯ ทุกวัน โดยมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งบัตรเลือกตั้งกลับเมืองไทยแล้ว
นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์
นางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
“การเลือกตั้งของเราที่คูหาจะจบลงวันที่ 1 พ.ค. หลังจากนั้นเราจะใช้เวลาคัดแยกบัตร และรวมกับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คัดแยกตามเขตและจังหวัดให้เรียบร้อย เราจะรวมใส่ถุงเมล์ทางการทูตกลับเมืองไทยไปภายในวันที่ 6 พ.ค.” ท่านกงสุลใหญ่ฯ กล่าว

ท่านกงสุลใหญ่ ฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการเลือกตั้งว่า เป็นกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศ นำไปสู่ความเจริญและความกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวไทย พร้อมเชิญชวนให้คนไทยในออสเตรเลียออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อยังทำได้

“คนไทยในต่างประเทศที่ยังมีความห่วงใยบ้านเมือง พี่น้องที่อยู่ที่เมืองไทย ก็อยากให้ออกมาช่วยใช้สิทธิแสดงพลังของพวกเรา” ท่านกงสุลใหญ่ฯ กล่าว

เอสบีเอส ไทย ได้พูดคุยกับประชาชนชาวไทยที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งสะท้อนความคิดเห็นและความคาดหวังที่น่าสนใจในหลากแง่มุม

เพราะการมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทย

คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี
คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี ซึ่งเดินทางมาเลือกตั้งพร้อมกันทั้งครอบครัวที่คูหาในซิดนีย์ กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย ว่า การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทย และคาดหวังจะได้เห็นผู้แทนหน้าใหม่เข้ามาทำงานบริหารบ้านเมือง

“ส่วนตัว (คิดว่า) เลือกตั้งครั้งนี้อยากเห็นคนทำงานคนใหม่ ๆ เข้ามาลองทำดูบ้าง เพราะคนเก่า ๆ ก็ไม่ได้เห็นอะไร ถ้าคนใหม่ ๆ ยังไม่เห็นอีก อีก 4 ปีก็ค่อยว่ากันใหม่แล้วกัน” คุณพลอย กล่าว

คุณพลอย ชาวไทยที่อยู่ซิดนีย์มากว่า 17 ปี ซึ่งเดินทางมาเลือกตั้งพร้อมกันทั้งครอบครัว กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย

ชัดเจนแล้วว่าควรออกมาใช้สิทธิ

คุณเอก (นามสมมติ) คนไทยในออสเตรเลียจากจังหวัดหนองคาย
คุณเอก (นามสมมติ) คนไทยในออสเตรเลียจากจังหวัดหนองคาย Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณเอก (นามสมมติ) คนไทยในออสเตรเลียจากจังหวัดหนองคาย อาศัยอยู่ในซิดนีย์มานาน 4 ปี กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย ว่า เหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้งในอดีต ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน เนื่องจากมีเพื่อนคนไทยบางส่วนที่พลาดข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คุณเอกกล่าวอีกว่า ต้องการให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ในครั้งหน้า

“จริง ๆ คนไทยหลายคนอาจพลาดสิทธิ เพราะว่าไม่ทราบข่าวสารอัพเดตก็มีส่วนนึงครับ อย่างเพื่อนผมหลายคนยังไม่รู้เลยว่า ลงทะเบียนกันแล้วหรอ หมดเขตแล้วหรอ ก็มีครับ อยากให้ทุกคนออกมา อยากฝากข่าวการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ในรอบต่อไปครับ”

คนไทยที่นี่จะต้องตื่นตัวมากกว่านี้

คุณจิน จินดาวรรณ โรจนวิภาค บาร์เทนเดอร์สาวที่อยู่ซิดนีย์มาแล้ว 3 ปี
คุณจิน จินดาวรรณ โรจนวิภาค บาร์เทนเดอร์สาวที่อยู่ซิดนีย์มาแล้ว 3 ปี Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณจิน จินดาวรรณ โรจนวิภาค บาร์เทนเดอร์สาวที่อยู่ซิดนีย์มาแล้ว 3 ปี กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย ว่า เป็นอีกหนึ่งคนที่พบว่า มีคนรอบตัวที่เข้าไม่ถึงการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อถามถึงมุมมองส่วนตัวในการมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ คุณจินกล่าวว่า ขอเลือกพรรคที่ชูนโยบายใหม่ที่ไม่เคยมีพรรคไหนผลักดันมาก่อน

“เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์รวมหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าการศึกษา เกษตร เศรษฐกิจ ไปจนถึงการชูนโยบายเรื่องสุราที่มันดันผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพื่อให้เป็นอีกทางนึงที่ให้เกษตรกรบ้านเรามีรายได้มากขึ้น” คุณจิน กล่าว

คนบริหารประเทศต้องรับฟังเสียงประชาชน

คุณแอร์ สุธิดา แสนศิริพันธุ์  นักศึกษาปริญญาโทในนครซิดนีย์
คุณแอร์ สุธิดา แสนศิริพันธุ์ นักศึกษาปริญญาโทในนครซิดนีย์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณแอร์ สุธิดา แสนศิริพันธุ์  นักศึกษาปริญญาโทที่ได้มาศึกษาต่อด้านการบริหารธุรกิจในซิดนีย์ ได้กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย ว่า อยากได้คนรุ่นใหม่ที่รับฟังเสียงประชาชนมาบริหารประเทศ และได้ผลเลือกตั้งครั้งนี้ที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม

“ทุกพรรคมีนโยบายที่อยากให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่เราก็อยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศเปิดรับอะไรใหม่ ๆ และยึดถือเรื่องความก้าวหน้าของประเทศเป็นที่ตั้ง” คุณแอร์ กล่าว

เสียงเล็ก ๆ เมื่อรวมกันก็สามารถล้มช้างได้

คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ สาวไทยจากเมืองออเรนจ์ (Orange) รัฐนิวเซาท์เวลส์
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ สาวไทยจากเมืองออเรนจ์ (Orange) รัฐนิวเซาท์เวลส์ Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณแอมป์ ศศิ สิขเรศ สาวไทยที่เดินทางไกลกว่า 4 ชั่วโมงจากเมืองออเรนจ์ (Orange) ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ผู้ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้วเป็นครั้งที่สอง ได้กล่าวชื่นชมการจัดการของทางกงสุลไทยในซิดนีย์กับ เอสบีเอส ไทย ว่าทำได้ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนมาก ด้วยบริการอำนวยความสะดวกคนไทยที่ขาดเอกสารได้มาใช้สิทธิกันในครั้งนี้

ขณะเดียวกันก็ขอฝากข้อความผ่าน เอสบีเอส ไทย เชิญชวนให้ชาวไทยมาลงคะแนนเสียงเพราะหากพลาดโอกาสครั้งนี้ อาจต้องรอนานถึง 4 ปี

“การตัดคะแนนที่ไทย ไม่ใช่ว่าใครได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะได้พื้นที่ จำนวนคนเล็ก ๆ ในต่างประเทศ อาจช่วยเพิ่มที่นั่งในสภาให้พรรคที่เราเชียร์ได้” คุณแอมป์ กล่าว

มาตรา 112 ต้องได้รับการแก้ไข

คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis นักแปลและล่ามอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้ง The Australian Alliance for Thai Democracy
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis นักแปลและล่ามอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้ง The Australian Alliance for Thai Democracy Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณโม Kanyanatt Kalfagiannis นักแปลและล่ามอิสระ และผู้ร่วมก่อตั้ง The Australian Alliance for Thai Democracy ซึ่งเดินทางมาใช้สิทธิตั้งแต่วันแรกของการเลือกตั้ง กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย ว่า พรรคที่ลงคะแนนเสียงให้ในครั้งนี้ เป็นพรรคที่ตนเชื่อมั่นในเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองที่โปร่งใส และการให้ความสำคัญกับผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และย้ำว่าต้องเป็นพรรคที่มีนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คุณโมกล่าวอีกว่า ต้องการเห็นพรรคการเมืองเพิ่ม 2 นโยบายต่อไปนี้ ได้แก่ ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม และทุนกู้ยืมทางการศึกษา (student loan) ที่เข้าถึงได้จริง

“รัฐต้องให้ความสำคัญกับความกินดีอยู่ดีของทุกคน ทั้งผู้ถือสัญชาติไทย ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และแรงงานต่างด้าวทุกชนชั้น อีกทั้งเรื่องมาตรา 112 ที่เรามองว่าค่อนข้างล้าสมัย ส่วนตัวคิดว่าควรยกเลิกไปเลย แต่อย่างน้อยสุดคือต้องมีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน” คุณโม กล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

คุณโด่ง ชวาลิน เศวตนันท์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมกควอรี (Macquarie University)
คุณโด่ง ชวาลิน เศวตนันท์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมกควอรี (Macquarie University) Credit: SBS Thai/Wanvida Jiralertpaiboon
คุณโด่ง ชวาลิน เศวตนันท์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมกควอรี (Macquarie University) ที่อาศัยอยู่ในซิดนีย์กว่า 10 ปี กล่าวกับ เอสบีเอส ไทย อย่างตื่นเต้นว่า บรรยากาศทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักกว่าเดิมมาก และเชื่อว่าทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิล้วนคาดหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงการมองนโยบายของพรรคการเมืองกับการตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ คุณโด่งกล่าวว่า ต้องเป็นพรรคที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกคนในสังคม พร้อมเสริมว่าหน้าที่ของคนไทยไม่ได้จบลงเพียงการลงคะแนนเสียงเท่านั้น

“เราเชื่อมั่นว่าครั้งนี้เสียง (บัตรเลือกตั้ง) ของพวกเราทุกคนต้องไปถึงเมืองไทยได้ปลอดภัยแน่นอน แต่หลังจากที่เราไปเลือกตั้งแล้ว ก็ยังเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องจับตาดูกันต่อไป เชื่อว่าเดี๋ยวนี้มันมีโซเชียลมีเดีย มันสามารถตามกันได้ ฉะนั้นคิดว่าการที่จะมาตุกติกมันไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน” คุณโด่งกล่าว

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ จาก เอสบีเอส ไทย

การเมืองไทย: สิ้นหวังหรือมีหวัง?


Share
Published 30 April 2023 10:17pm
Updated 30 April 2023 10:28pm
By Wanvida Jiralertpaiboon
Source: SBS

Share this with family and friends