ข้อมูลเรื่องค่าจ้างที่ผู้หางานต้องการรู้ แต่นายจ้างไม่บอก

ข้อมูลล่าสุดพบนายจ้างจำนวนมากไม่แจ้งรายละเอียดเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน ควรมีข้อบังคับให้นายจ้างต้องเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้หรือไม่?

Woman working on a laptop.

ประกาศรับสมัครงานส่วนใหญ่ที่โพสต์ลงใน SEEK ในเดือนพฤศจิกายน ไม่ระบุอัตราช่วงเงินเดือน Source: Getty / Kilito Chan

ประเด็นสำคัญ
  • ประกาศรับสมัครงานในออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลเงินเดือน
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านี่ไม่เพียงทำให้ผู้หางานเสียเปรียบเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อนายจ้างด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการสั่งห้ามเก็บเรื่องค่าจ้างเป็นความลับในออสเตรเลียเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
นายจ้างกำลังเก็บงำเรื่องค่าจ้างที่พวกเขาเสนอให้แก่ตำแหน่งงานที่ประกาศรับสมัคร แม้ว่าผู้หางานจะต้องการข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเงินเดือน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการหางาน

จากข้อมูลของเว็บไซต์ศูนย์รวมประกาศรับสมัครงาน ซีค (SEEK) 2 ใน 3 ของประกาศรับสมัครงานที่โพสต์บนซีคในเดือนพฤศจิกายนไม่ระบุอัตราช่วงเงินเดือน (salary range)

สัดส่วนของประกาศรับสมัครงานที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 34.5 เปอร์เซ็นต์

นายจ้างบางรายยินดีเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าจ้างมากกว่านายจ้างรายอื่น ๆ

มีการระบุข้อมูลเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานของภาครัฐบาลราว 50 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศรับสมัครงานจากผู้สรรหาบุคลากรให้กับบริษัทต่าง ๆ 46 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศของธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง 42 เปอร์เซ็นต์ ในประกาศของผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ 30 เปอร์เซ็นต์ และเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในประกาศรับสมัครงานของบริษัทหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

เหตุใดนายจ้างไม่ระบุเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน?

มิเชลล์ บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ข้อโต้แย้งประการหนึ่งที่นายจ้างมีในการไม่ระบุเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานก็คือ พวกเขาต้องการความยืดหยุ่นในการเสนอค่าจ้างแก่ผู้สมัครตามที่ผู้สมัครเชื่อว่าตนควรได้รับ

“หากคุณพบผู้สมัครที่โดดเด่น คุณก็สามารถจ่ายเงินให้ได้ตามจำนวนที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อให้ได้ผู้สมัครคนนั้นมา” ศ.บราวน์ กล่าว

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งคือการเปิดเผยข้อมูลเรื่องค่าจ้างต่อสาธารณะอาจทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่แล้วในองค์กรค้นพบเรื่องเงินเดือนที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมงาน

“นั่นอาจสร้างปัญหาให้กับองค์กรได้” ศ.บราวน์ กล่าว
แม้ว่านายจ้างจะมีกังวลดังกล่าว แต่การสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่ที่กำลังมองหางานต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนก่อนสมัครงาน

การสำรวจของซีค (SEEK) ล่าสุดพบว่า 87 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า การแจ้งเกี่ยวกับค่าจ่างมีความสำคัญ หรือสำคัญอย่างยิ่ง

ในการสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่กำลังหางาน 400 คนกล่าวว่า ความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนช่วยหลีกเลี่ยงความผิดหวัง ในขณะที่ 42 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าช่วยให้ไม่ต้องเปลืองเวลาและความพยายาม

3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะสมัครงานที่แจ้งอัตราช่วงเงินเดือน

“หากคุณจะเปลี่ยนงาน มีแนวโน้มว่าทำเพราะต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น” ศ.บราวน์ กล่าว
“หากองค์กรไม่ให้ข้อมูลที่ว่า… คุณจะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก หลายคนอาจไม่สนใจงานนี้ด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ให้ค่าจ้างมากนัก และนั่นทำให้เกิดความกดดันอย่างมากต่อองค์กรต่าง ๆ ในการพิจารณาผู้สมัครที่มีเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมาก"

การไม่ระบุข้อมูลเงินเดือนในโฆษณารับสมัครงานอาจก็อาจเปลี่ยนทัศนคติของผู้สมัครเกี่ยวกับบริษัทได้ ศ.บราวน์ กล่าว

“ผู้สมัครงานมักจะมองเรื่องนี้เป็นหลักฐานว่าบริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่ มองว่าเป็นข้อมูลทำให้รู้ว่างานคืออะไร ความคาดหวังของงานเป็นอย่างไร และพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม และนั่นก็ทำให้ผู้คนก็มีแนวโน้มจะสมัครมากขึ้น ตามที่ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็น” ศ.บราวน์ กล่าว

การออกกฎควบคุมธรรมเนียมปฏิบัติในการจ้างงาน

หลายรัฐในสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้โฆษณารับสมัครงานต้องระบุอัตราช่วงเงินเดือน (salary range) ด้วย แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย

“อัตราช่วงเงินเดือนเป็นจุดที่กลมกล่อมระหว่างผลประโยชน์ของนายจ้างและผลประโยชน์ของลูกจ้าง ตราบใดที่ช่วงระยะนั้นไม่กว้างจนน่าขัน” ศ.บราวน์ กล่าว

เธอเชื่อว่า จะส่งเสริมให้นายจ้างแจ้งเงินเดือนในประกาศรับสมัครงาน โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบมาบังคับ

“เป็นไปได้ว่าเมื่อผู้คนเริ่มพูดคุยกัน พวกเขาจะตระหนักว่าคนใหม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าคนที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว และดังนั้นจึงมีความกดดันต่อองค์กรต่าง ๆ ที่จะต้องมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อมีการจ้างคนเข้ามา เพราะจะยากขึ้นที่จะเก็บงำเรื่องความแตกต่างเกี่ยวกับค่าจ้าง” ศ.บราวน์ กล่าว
คุณ ฟิโอนา แมคโดนัลด์ ผู้อำนวยการนโยบายด้านอุตสาหกรรมและสังคม ที่ศูนย์การทำงานแห่งอนาคต (Centre for Future Work) ของสถาบันออสเตรเลีย (Australia Institute) เห็นด้วยว่าการเพิ่มการพูดคุยกับเกี่ยวกับเงินเดือนอันเป็นผลมาจากกฎหมายห้ามเก็บเรื่องเงินเดือนเป็นความลับนี้ อาจทำให้มีความโปร่งใสเรื่องค่าจ้างที่มากขึ้นในประกาศรับสมัครงาน

แต่เธอกล่าวว่า การมีกฎระเบียบมาบังคับไปพร้อมกันก็เป็น "ความคิดที่ดีอย่างยิ่ง" เช่นกัน

“ฉันคิดว่ามันสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมกัน … การวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกจ้างที่ด้อยโอกาส เช่น ผู้หญิงและผู้ย้ายถิ่นฐาน” คุณ แมคโดนัลด์ กล่าว

“หากพวกเขาสมัครงานและถูกถามว่าได้ค่าจ้างปัจจุบันเท่าไร นายจ้างคนใหม่ก็จะกำหนดค่าจ้างตามอัตราเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงลงเอยด้วยการเสียเปรียบเรื่องค่าจ้างในระยะยาวตลอดอาชีพการงาน”

นอกจากนี้ ยังจะทำให้ลูกจ้างรู้อัตราค่าจ้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปเจรจากับนายจ้างได้ดีขึ้น คุณ แมคโดนัลด์ กล่าว

“เรารู้ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงอาจไม่มั่นใจในการต่อรองเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้นเมื่อพวกเธอเริ่มงาน ดังนั้นหากรู้ว่านายจ้างจะจ่ายเท่าไร นั่นจะช่วยพวกเธอได้มากขึ้นสำหรับค่าจ้างเริ่มต้น"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share
Published 15 December 2023 3:10pm
By David Aidone, Amy Hall
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends