จับสัญญาณปัญหาสุขภาพจิต

ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตมีโอกาสเกิดความเจ็บป่วยทางกายตามมา หากปล่อยทิ้งไว้อาการอาจย่ำแย่ลงจนนำไปสู่ความผิดปกติอื่น ๆ ทั้งนี้ ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทียังคงเป็นหนทางช่วยให้บุคคลกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

Mental health issues

Source: Pexels/Pixabay

แต่ละปี ชาวออสเตรเลียกว่า 1 ใน 5 เผชิญปัญหาสุขภาพจิต โดยประมาณการว่าร้อยละ 45 ของชาวออสเตรเลียทั้งหมดอาจเคยมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจในบางช่วงเวลาของชีวิต 


ประเด็นสำคัญ

  • หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนเบื้องต้น
  • ผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตมีอาการดีขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือที่เหมาะสม
  • พูดคุยบอกเล่าความรู้สึกกับคนใกล้ชิดนับเป็นก้าวแรกที่ยอดเยี่ยม

ภาวะซึมเศร้า (depression) และภาวะวิตกกังวล (anxiety) เป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่พบบ่อยที่สุดทั้งในชาวออสเตรเลียและประชากรทั่วโลก

อาการของภาวะซึมเศร้า

  • ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยชื่นชอบหรืองานอดิเรก
  • ไม่รู้สึกกระตือรือร้นกับการเข้าสังคม
  • พฤติกรรมการนอนหลับเปลี่ยนไป ไม่มีสมาธิ
  • หงุดหงิดง่ายขึ้น
  • อารมณ์ขุ่นเคืองง่ายขึ้น
  • มีพฤติกรรมต่อต้านหรือหลีกหนีมากขึ้น
  • อ่อนไหวต่อความคิดเห็นของผู้อื่นมากขึ้น
  • ร้องไห้ง่ายขึ้น
ดร.มาเรีย แคงกัส (Maria Kangas) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมคควอรี (Macquarie University) ชี้ว่า อาการเหล่านี้อาจแตกต่างกันตามแต่ละคน

“อาจมีหลายอาการที่เข้าข่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมีทุกอาการ” ดร.แคงกัสกล่าว

ดร.แคงกัสอธิบายว่า บางคนอาจมีภาวะวิตกกังวลทั่วไป (general anxiety) กลัวเกิดความผิดพลาด ความล้มเหลว หรืออาจมีภาวะกลัวการเข้าสังคม (social anxiety) เนื่องจากกลัวถูกมองในแง่ลบหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์
เหล่านี้เป็นความกลัวเกินระดับทั่วไป เป็นความกลัวที่ขยายใหญ่ขึ้นเกินกว่าที่คนทั่วไปกลัวกันมาก
man depressed
Source: Pexels/Quintin Gellar

สัญญาณของภาวะวิตกกังวล

  • รู้สึกกังวล กระวนกระวาย ตึงเครียด
  • รู้สึกเหมือนมีอันตรายหรือหายนะคืบใกล้เข้ามา ตื่นตระหนก
  • อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น
  • หายใจหอบถี่ (hyperventilation)
  • เหงื่อออกหรือตัวสั่น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • ไม่มีสามารถจดจ่อหรือคิดถึงเรื่องอื่นนอกเหนือจากความกังวลในขณะนั้น
  • มีปัญหาการนอนหลับ
ดร.แกรนท์ บลาชกี (Grant Blashki) ที่ปรึกษาทางคลินิกของบียอนด์บลู (Beyond Blue) ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีภาวะเครียดหรือหวาดกลัวต้องมีปัญหาสุขภาพจิต แต่ถ้าอาการเหล่านี้เริ่มกระทบการดำเนินชีวิตประจำวันก็ควรขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

“เป็นต้นว่า คุณไปทำงานไม่ได้ หรือจัดการหน้าที่รับผิดชอบในบ้านไม่ได้ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่ง” ดร.บลาชกีกล่าว
people walking
Source: Getty Images/EschCollection
ดร.แคงกัสเสริมว่า ภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลอาจส่งผลให้หงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น บางคนอาจมีอาการในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (impulse control disorder) ทำให้ควบคุมอารมณ์และความโกรธได้ไม่ดีนักจนอาจเป็นปัญหาตามมา

“นี่เป็นอาการสะสม เป็นจุดที่คนเราอาจระเบิดอารมณ์ได้จริง ๆ บางครั้งคู่ครอง ครอบครัวหรือญาติอาจคิดสงสัยว่า ‘มันมาจากไหนกัน’ โดยไม่ทันสังเกตว่าเขาอาจรับมือไม่ไหวมาระยะหนึ่งแล้ว” ดร.แคงกัสกล่าว
ปัญหาอาจบานปลายกลายเป็นคดีความทางกฎหมาย หรือเสี่ยงเสียงานเสียการหากมีพฤติกรรมก้าวร้าวหนัก
ดร.แคงกัสกล่าวว่า โรคขาดความยับยั้งชั่งใจอาจแสดงออกในรูปแบบอาการเสพติด เช่น ติดการพนัน ติดสุรา หรือภาวะเสพติดอื่น ๆ

หมั่นสังเกตอาการตั้งแต่แรกเริ่ม

รศ.แฮร์รี มินัส (Harry Minas) หัวหน้าหน่วย Global and Cultural Mental Unit มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) กล่าวว่า

“คนใกล้ชิดของผู้มีอาการเหล่านี้อยู่ในจุดที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาจะไม่มองข้ามความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น”
red wine
Drinking excessively can make someone's depression worst. Source: Photo by Chitokan from Pexels
“พวกเขาควรเอาใจใส่ให้มากขึ้น สื่อสารกับบุคคลนั้น ขอให้เขาเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น” รศ.มินัสกล่าว
ทั้งนี้ ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างสถานการณ์ให้เขารู้สึกสบายใจพอจะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ให้เขารู้สึกว่าจะไม่ถูกตัดสินอย่างแข็งกร้าวหรือโดนหัวเราะเยาะ หรือรู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญถูกปัดตกไปทางใดทางหนึ่ง

ปัญหาการขาดความตระหนักและการตีตรา

รศ.มินัส มีประสบการณ์หลายปีในฐานะที่ปรึกษาของรัฐบาลสหพันธรัฐว่าด้วยประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

เขาพบว่า คนในชุมชนหลากวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยไม่ได้ขอความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพราะขาดความตระหนักเกี่ยวกับภาวะทางจิตเวช ประกอบกับอิทธิพลจากการตีตราที่ยึดโยงกับภาวะเหล่านี้

“ถึงทุกคนจะรู้ว่าคนนี้มีอาการทางจิต ก็มักเก็บเรื่องนี้ไว้ภายในครอบครัว” รศ.มินัสชี้
Close up of Caucasian couple holding hands in coffee shop
باز کردن در گفت‌وگو با کسانی که با مشکلات روانی دست‌وپنجه نرم می‌کنند، می‌تواند آغاز خوبی برای پرداختن به مشکل باشد. Source: (Getty Images/PeopleImages)
“ครอบครัวอาจติดต่อกับชุมชนของตนน้อยลงเพราะอับอาย ทั้งยังอาจไม่ยินยอมขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญให้แก่ผู้มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ”

หากคุณไม่สะดวกใจปรึกษาเรื่องนี้กับแพทย์จีพีของคุณ สามารถติดต่อสายด่วนความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น บียอนด์บลู (Beyond Blue)

แบบทดสอบ K10

ดร.บลาชกีจากบียอนด์บลู กล่าวว่า บุคคลทั่วไปสามารถทำแบบทดสอบออนไลน์บนเว็บไซต์ของบียอนด์บลู เพื่อประเมินเบื้องต้นว่าควรขอรับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตหรือไม่

ประกอบด้วยคำถาม 10 ข้อ และทราบผลเกี่ยวกับอาการได้ทันที

“ส่วนใหญ่ถ้าผลออกมาอยู่ในระดับเล็กน้อย (mild) หรืออยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยปกติ (average) ก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่เรายังขอสนับสนุนให้ทุกคนใส่ใจดูแลสุขภาพใจของตนเสมอ โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดเช่นนี้” ดร.บลาชกีกล่าว 

“ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกิจวัตรประจำวันที่บ้านบ้าง นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป”
Exercises that people with chronic diseases are able to do during a lockdown
Exercise releases chemicals like endorphins and serotonin that improve your mood. Source: (Getty Images/Boy_Anupong)
แต่ถ้าผลประเมินอยู่ในระดับปานกลาง (moderate) ควรปรึกษาสายด่วนความช่วยเหลือของบียอนด์บลู กรณีผลประเมินระดับรุนแรง (severe) ดร.บลาชกีแนะนำให้พบแพทย์จีพีของคุณ

“หลายวัฒนธรรมเข้าใจว่าหมอประจำตัวมีไว้วัดความดันเลือดหรือปัญหาเจ็บป่วยทางกาย แต่ที่ออสเตรเลีย แพทย์จีพีนับเป็นส่วนสำคัญของกำลังบุคลากรด้านสุขภาพจิตของเรา” ดร.บลาชกีกล่าว

“แพทย์จีพีสามารถออกแผนสุขภาพจิต (GP mental health plan) หมายความว่าคุณสามารถพบนักจิตวิทยาเชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยใช้เมดิแคร์ได้”
หากคุณต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ติดต่อสายด่วนไลฟ์ไลน์ (Lifeline) โทร. 13 11 14 หรือบียอนด์บลู (Beyond Blue) โทร. 1300 224 636

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์

เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สนับสนุนผู้คนจากภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรมในออสเตรเลีย

กรณีเหตุฉุกเฉิน โทร. 000


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 15 October 2021 12:48pm
By Chiara Pazzano
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends